สรุปทุกประเด็น MOU 44 จะทำให้ไทยเสียเกาะกูดแก่กัมพูชาหรือไม่
เพียงไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์หลังจากพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพลังประชารัฐ (พปชร.) เคลื่อนไหวเปิดประเด็นว่าไทยจะเสียดินแดนเกาะกูด จ.ตราด โดยเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกบันทึกความเข้าใจพื้นที่ทับซ้อนของไหล่ทวีปหรือ "MOU 44" ที่ไทยลงนามร่วมกับกัมพูชาไว้เมื่อปี 2544 ต้นสัปดาห์นี้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นำพรรคร่วมรัฐบาลแถลงยืนยันเกาะกูดเป็นของไทย และเอ็มโอยูที่ลงนามเมื่อ 23 ปีที่แล้ว ไม่ได้มีผลทำให้ไทยเสียดินแดนเกาะกูด
“เรายังไม่ได้เสียเปรียบในการตกลงนี้ มันเป็นเรื่องที่นานมาแล้วมีการขีดเส้น เราจึงสร้างเอ็มโอยูขึ้นมาเพื่อเปิดพื้นที่ให้ทั้งประเทศเจรจาและตกลงร่วมกันในผลประโยชน์” น.ส.แพทองธาร กล่าวในการแถลงที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 4 พ.ย.
“รัฐบาลนี้จะไม่ยอมเสียพื้นที่ของประเทศไทยแม้แต่ตารางนิ้วเดียวไปให้ใครก็ตาม ซึ่งเรื่องเกาะกูดกับระหว่างกัมพูชาเองเราไม่เคยมีปัญหา ไม่เคยมีข้อสงสัยด้วย อาจจะแค่เกิดความเข้าใจผิดกันในประเทศไทย ซึ่งมั่นใจได้เลยว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทย”
นายกฯ ระบุด้วยว่า “เราไม่ได้ยอมรับเส้น[เขตแดน]อะไร เอ็มโอยูดังกล่าวคือการที่เราคิดไม่เหมือนกัน แต่เราต้องแก้ไขปัญหาร่วมกันทั้งสองประเทศ” และจะเดินหน้าเอ็มโอยูนี้ต่อ ซึ่งตอนนี้จะต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Joint Technical Committee: JTC) ของฝ่ายไทย ซึ่งทุกรัฐบาลมีมาแล้ว แต่รัฐบาลนี้ยังตั้งไม่เสร็จ
นายกรัฐมนตรียังระบุเพิ่มเติมในวันนี้ (5 พ.ย.) ว่า คาดว่าไม่น่าจะเกิน 2 สัปดาห์ จะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.)
เหตุใดบันทึกความเข้าใจที่ไทยลงนามกับกัมพูชาเมื่อ 23 ปีที่แล้ว จึงกลายเป็นประเด็นที่ถูกกล่าวหาว่าจะทำให้ไทยเสียดินแดน บีบีซีไทยคุยกับผู้เชี่ยวชาญ และประมวลคำชี้แจงจากกระทรวงการต่างประเทศ และนายกรัฐมนตรี
MOU 44 คืออะไร ทำไม พปชร. จึงอยากให้ยกเลิก
MOU 44 หรือ MOU 2544 คือบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐไทยกับรัฐบาลกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน
บันทึกความเข้าใจฉบับนี้เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร โดยนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ซึ่งเป็น รมว.ต่างประเทศ ในขณะนั้น ลงนามใน MOU ดังกล่าวกับนายซก อัน รัฐมนตรีอาวุโสและประธานการปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชา เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2544
สำหรับความเคลื่อนไหวในการเรียกร้องให้ยกเลิกเอ็มโอยูฉบับนี้ เกิดขึ้นตั้งแต่เดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา
เดือน มิ.ย. นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค พปชร. ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า การที่กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และกระทรวงการต่างประเทศ นำ MOU 44 ซึ่งไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภา “มาใช้ดำเนินการแบ่งเขตอธิปไตย และผลประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลของไทย ด้านอ่าวไทย เป็นการละเมิดสิทธิ์ของผู้ร้องตามรัฐธรรมนูญ” หรือไม่ และขอให้วินิจฉัยยกเลิก
ทว่าเมื่อวันที่ 4 ก.ย. ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 ไม่รับคำร้องขอวินิจฉัย ด้วยเหตุว่านายไพบูลย์ ไม่ใช่ผู้ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญโดยตรง
ต่อมาวันที่ 30 ต.ค. นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานด้านวิชาการพรรค พปชร. เปิดแถลงที่รัฐสภาว่า ข้อความในเอกสาร MOU 44 และแผนที่แนบท้าย แสดงให้เห็นว่าทั้งไทยและกัมพูชายอมรับว่ามีพื้นที่พัฒนาร่วมกันเพื่อให้เจรจาแบ่งผลประโยชน์ปิโตรเลียม แต่แผนที่แนบท้ายของเอ็มโอยูได้ใช้เส้นเขตแดนทะเลที่ประกาศโดยกัมพูชาในปี 2515 ซึ่งเส้นที่พาดผ่านเกาะกูดนั้น ขัดกับสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 จึงมองว่า MOU 44 ทั้งฉบับผิดกฎหมายและอาจส่งผลให้ไทยสูญเสียดินแดน
“ไม่ขัดข้องที่รัฐบาลจะเจรจาหาทางลงทุนร่วมกับกัมพูชา แต่ขัดข้องถ้าหากรัฐบาลจะใช้ MOU 44 เป็นกรอบในการเจรจา เพราะนอกจากเห็นว่าผิดกฎหมายแล้ว ยังอาจจะทำให้ไทยเสียดินแดนอีกด้วย” สมาชิกพรรค พปชร. ระบุ
ในระหว่างการเปิดแถลงชี้แจงประเด็นเกาะกูด นางสุพรรณวษา โชติกญาณ ถัง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ได้อธิบายที่มาของ MOU 44 ว่า ไทยและกัมพูชามีความพยายามจะเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไหล่ทวีปในอ่าวไทยตั้งแต่ปี 2513 ก่อนที่กัมพูชาประกาศ "เส้นเคลม" หรือเส้นเขตแดนของกัมพูชาในปี 2515 แต่การเจรจาไม่เดินหน้าไปไหน เพราะต่างฝ่ายต่างเห็นไม่ตรงกัน
“ไทยเห็นความสำคัญว่าต้องสร้างความชัดเจนเรื่องทะเลอาณาเขตและการปกป้องอธิปไตย แต่กัมพูชาเห็นความสำคัญของการนำทรัพยากรขึ้นมาใช้ ก็เลยคุยไม่รู้เรื่อง” ก่อนที่ในเวลาต่อมาในสมัยนายสุรเกียรติ์เป็น รมว.ต่างประเทศ ได้ตกลงกันสร้างกรอบให้มีความคืบหน้าในเรื่องนี้ จึงเป็นที่มาของ MOU 44
อย่างไรก็ตาม หลังจากกัมพูชาประกาศเส้นเขตแดนทางทะเลในปี 2515 ไทยก็ประกาศเส้นของไทยเองเช่นกันในปี 2516 ซึ่งปรากฏในพระบรมราชโองการประกาศเขตไหล่ทวีปของประเทศไทยด้านอ่าวไทยปี 2516 และตามด้วยการประกาศเขตไหล่ทวีปของเวียดนามในปี 2517
การประกาศเขตแดนของไทยและกัมพูชาดังกล่าวทำให้เกิดพื้นที่ทับซ้อนกันซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “พื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน” Overlapping Claims Area (OCA) ขนาด 26,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นเส้นอ้างสิทธิ์ที่แต่ละประเทศต่างประกาศออกมา ซึ่งอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายระบุว่า "พื้นที่ดังกล่าวกว้างใหญ่กว่าพื้นที่ OCA ระหว่างไทยและกัมพูชา 4 เท่า"
แล้วเส้นที่ทั้งไทยและกัมพูชาประกาศเขต มีผลอย่างไรในทางกฎหมายหรือไม่ นางสุพรรณวษา ชี้แจงว่า พื้นที่ดังกล่าวที่ปรากฏในแผนที่เกิดจากการประกาศเขตทางทะเลของแต่ละรัฐเพียงฝ่ายเดียว (unilateral claim) ซึ่งการประกาศดังกล่าวจะผูกพันแต่เฉพาะตามกฎหมายภายในของประเทศนั้น ๆ และไม่ได้ผูกพันไทย
“เราไม่ได้ไปยอมรับเส้นอะไรของเขา เพราะบ่อเกิดมันคือกฎหมายภายใน” อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ระบุ
อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย อธิบายว่า พื้นที่ OCA รวม 26,000 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็นสองพื้นที่หลัก ๆ ได้แก่ พื้นที่เหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ กำหนดให้เจรจาแบ่งเขตทางทะเล และพื้นที่ใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ กำหนดให้เจรจาเพื่อพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน (JDA) โดยมีเงื่อนไขว่าสองเรื่องนี้ต้องพูดคุยไปพร้อมกันโดยไม่อาจแบ่งแยกกันได้ จึงเป็นที่มาของเอ็มโอยูที่กำหนดว่ามีสองผลประโยชน์ที่ไทยจะรักษา
MOU 44 ทำให้ไทยสูญเสียเกาะกูดหรือไม่
อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ยืนยันว่า MOU 44 "ไม่ได้ทำให้เราเสียเกาะกูด" เพราะว่าในตัวสนธิสัญญากรุงสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 ระบุชัดเจนว่า เกาะกูดเป็นของไทย อันนี้เป็นหลักฐานสำคัญในการยืนยันกรรมสิทธิ์เหนือตัวเกาะ ซึ่งไม่เคยเป็นประเด็นที่เกิดความสงสัย
“สนธิสัญญาระบุชัดเจนว่าตัวเกาะ (กูด) เป็นของไทย และในอดีตจนถึงปัจจุบันเราก็ใช้อำนาจอธิปไตยเหนือเกาะ 100 เปอร์เซ็นต์”
อธิบดีจากกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงประเด็นที่มีความกังวลว่า การที่แผนที่แนบท้าย MOU 44 ปรากฏเส้นเคลมผ่านเกาะกูดจะเป็นการยอมรับการขีดเส้นของกัมพูชาหรือไม่นั้น นางสุพรรณวษา ระบุว่าเงื่อนไขข้อที่ 5 ในเอ็มโอยูได้ระบุชัดเจนว่า ภายใต้เงื่อนไขการมีผลบังคับใช้ของการแบ่งเขตสำหรับการอ้างสิทธิทางทะเลของภาคีผู้ทำสัญญาในพื้นที่ที่ต้องมีการแบ่งเขต บันทึกความเข้าใจนี้และ "การดำเนินการทั้งหลายตามบันทึกความเข้าใจนี้จะไม่มีผลกระทบต่อการอ้างสิทธิทางทะเลของแต่ละภาคีผู้ทำสัญญาไว้"
“เคลม[เส้นเขตแดน]ของแต่ละฝ่ายก็ยังอยู่ตามกฎหมาย ผลสำเร็จการเจรจาจะเป็นอย่างไรก็ตาม ไม่ได้ทำลายสิ่งที่เราเคลม เราถึงต้องรักษาสิทธิที่เราเคลมไว้ก่อน”
“เราไม่ต้องตกลงอะไรทั้งนั้น จนกว่าเราจะมั่นใจว่าสิ่งที่เราได้สมประโยชน์ของไทย จึงไม่ได้เป็นการยอมรับตัวเส้นเคลมของกัมพูชา และกัมพูชาก็ไม่ได้ยอมรับเส้นเคลมของเราเช่นกัน”
ทางด้าน ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวกับบีบีซีไทยว่า เส้นเขตแดนที่แสดงอยู่ใน MOU 44 คือเส้นไหล่ทวีปซึ่งเป็นประเด็นเรื่องแสวงประโยชน์ใต้ดิน ไม่เกี่ยวข้องกับการ “เสียสิทธิสภาพใด ๆ ทั้งหลายในการปกป้องประเทศ”
“การประกาศเส้นไหล่ทวีปเป็นเรื่องของใต้ดิน ไม่เกี่ยวอะไรกับการเสียดินแดนแม้แต่ตารางนิ้วเดียว หรือเสียอธิปไตยที่จะปกป้องประเทศ ไม่เกี่ยวเลย แต่เป็นเรื่องแสวงหาประโยชน์ เรามีสิทธิแสวงหาประโยชน์ตรงนี้”
การเจรจาผลประโยชน์ด้านพลังงานในทะเล เกี่ยวข้องกับ MOU 44 อย่างไร
ในประเด็นเรื่องการสัมปทานในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชานี้ อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ชี้แจงเมื่อวันที่ 4 พ.ย. ว่า มีการกำหนดพื้นที่ต่าง ๆ แต่ยังไม่มีการเดินหน้าใด ๆ จนกว่าจะมีความชัดเจนเรื่องเขตแดนทางทะเล ซึ่งความชัดเจนดังกล่าวจะเป็นตัวบอกว่าทรัพยากรเป็นของใคร ทรัพยากรอยู่ที่ไหน
สอดคล้องกับ ผศ.อัครพงษ์ ที่กล่าวกับบีบีซีไทยว่า แผนที่รัฐบาลจะไปเจรจาเรื่องผลประโยชน์ทางพลังงานในพื้นที่ทับซ้อน เกี่ยวข้องกับการเจรจาภายใต้ MOU 44 ฉบับนี้ แต่ในขณะเดียวกัน ในพื้นที่ดังกล่าวได้มีการวางแผนเรื่องสัมปทานไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ซึ่งเป็นข้อมูลที่สาธารณะเข้าถึงได้
“บริษัทอะไรบ้างที่ได้สัมปทานไปแล้ว ทุกคนออกมาพูดว่า เดี๋ยวจะเกิดการแสวงหาผลประโยชน์ แต่จริง ๆ แสวงหาไปแล้ว แต่ยังไม่ขุด มีการให้แล้วว่าใครเป็นเจ้าของพื้นที่ตรงนี้ ๆ” ผศ.อัครพงษ์ กล่าว
ในระหว่างการแถลงของ น.ส.แพทองธาร เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2567 นายกรัฐมนตรีได้ตอบคำถามเกี่ยวกับแนวทางการเจรจาเรื่องพลังงานใต้ทะเลว่า ต้องคุยกันระหว่างประเทศก่อน และต้องมีการศึกษารายละเอียดว่าจะแบ่งกันอย่างไรได้บ้าง เพื่อให้ผลประโยชน์ที่จะเกิดกับ 2 ประเทศยุติธรรมมากที่สุด รัฐบาลจึงส่งคณะกรรมการที่รู้รายละเอียดไปศึกษาร่วมกันกับทางกัมพูชาให้ได้คำตอบที่จะสามารถตอบประชาชนได้อย่างชัดเจน
ผู้เชี่ยวชาญมองเป็นปัญหาภายในประเทศ มากกว่าปัญหาระหว่างประเทศ
ผศ.อัครพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ความเห็นกับบีบีซีไทยว่า ความเคลื่อนไหวที่มีการระบุว่า แผนที่แนบท้ายใน MOU 44 จะทำให้ไทยเสียเกาะกูดไป สามารถตีความได้ทั้งสองทาง แต่สุดท้ายขึ้นอยู่กับว่ารัฐใช้หลักฐานอะไรที่จะทำให้ฝ่ายไทยได้ประโยชน์ แต่ทั้งนี้มองว่า ประเด็นเรื่องอำนาจอธิปไตยและเส้นเขตแดน ไม่มีเหตุผลใดเลยที่ผู้ปฏิบัติงานในกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้เกี่ยวข้องกับการเจรจาผลประโยชน์ของชาติจะใช้หลักฐานที่ทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบ
“การเอามาพูดแบบนี้ มันส่งผลดีในแง่ประโยชน์ส่วนตนทางการเมือง แต่ไม่ส่งผลดีในเรื่องประโยชน์สาธารณะระหว่างประเทศ เพราะนั้น การที่จะมาประกาศตัวเองว่ารักชาติมากกว่าคนอื่น โดยใช้หลักฐานที่เป็นประโยชน์กับต่างประเทศ ถามว่าคุณรักชาติจริงหรือ”
ผู้เชี่ยวชาญผู้ศึกษาเรื่องเขตแดนไทย-กัมพูชากล่าวด้วยว่า การมีกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวอย่างนี้ ถือว่าเป็นกุศลในเรื่องความรักชาติ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับมีอานิสงส์ ซึ่งส่งผลอย่างใหญ่โตอย่างมาก อย่างเช่นกรณีของเขาพระวิหาร ผศ.อัครพงษ์ กล่าวว่า พูดอย่างตรงไปตรงมาเป็นเรื่องเดียวกันกับกรณีเกาะกูด เพราะเมื่อมี “ฝ่ายการเมืองเอามาเล่นการเมือง” แทนที่ไทยจะได้ประโยชน์ แต่กลับเกิดผลในทางตรงกันข้าม
“ตอนที่นายนพดล ปัทมะ (อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อปี 2551) ดำเนินการตามที่ศาลตัดสินมาแล้ว ที่ระบุให้กัมพูชา ขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาท แต่พื้นที่รอบตัวปราสาทให้สงวนไว้ แต่เมื่อมีนักเคลื่อนไหวออกมาต่อต้านนายนพดล และมีการให้ข้อมูลหลักฐานอะไรทั้งหลาย ทางฝั่งเพื่อนบ้านเขาก็เห็นช่อง เขาก็เลยเอาไปฟ้องศาลโลก ทั้ง ๆ ที่มันไม่น่าจะมีประเด็นอะไรเลย”
ผศ.อัครพงษ์ กล่าวว่าเช่นเดียวกันกับกรณีเกาะกูด "กัมพูชาเขาไม่ได้ตีความอย่างนั้นเลย"
“ฝ่ายเราต่างหากที่ตีความมาเป็นอาวุธทำลายล้างกัน อานิสงส์ในการทะเลาะกันของคนไทยมันตกไปอยู่กับฝ่ายประเทศเพื่อนบ้าน เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังมาก ๆ ในแง่ของการเจรจาเขตแดนระหว่างประเทศ จริง ๆ ตอนนี้เป็นปัญหาภายในประเทศ ไม่ใช่ปัญหาระหว่างประเทศ”
คำถามต่อรัฐบาล แรงกดดันในการเจรจามาจากกลุ่มทุนพลังงานหรือไม่
คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวด้วยว่า ด้วยการประมาณการเรื่องน้ำมันและก๊าซธรรมชาติซึ่งคาดว่ามีอยู่มาก เป็นการเดินสวนทางกับการเดินหน้าสู่เศรษฐกิจสีเขียวหรือไม่ หรือเป็นแรงกดดันจากกลุ่มทุนภาคพลังงาน
“แรงกดดันในการแสวงหาทรัพยากรใต้ดินมันมาจากไหนกันแน่ มาจากภาคเอกชนหรือเปล่า หรือมาจากภาคทุนหรือเปล่าซึ่งพยายามบอกว่า ถ้าเราไม่แสวงหาจะเกิดการเสียเปล่า" ผศ.อัครพงษ์ กล่าว "สรุปมันคืออะไรกันแน่ มันคือความมั่นคงของชาติจริง ๆ หรือไม่ นี่คือคำถาม”
ผู้เชี่ยวชาญจาก มธ. ตั้งคำถามด้วยว่า ประเด็นดังกล่าวแต่ละฝ่ายมีจุดประสงค์เช่นใด ทั้งคนที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องเสียเกาะกูด และฝ่ายรัฐบาล เพราะการเจรจาภายใต้ MOU 44 ครั้งหลักมีขึ้น 3 ครั้ง ได้แก่ปี 2544, ภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และภายใต้รัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งถูกมองเรื่องความใกล้ชิดระหว่างนายทักษิณ ชินวัตร และรัฐบาลกัมพูชา
“ถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ อยู่มาสิบปี ทำไมไม่เห็นจะไปยกเลิกอะไร หรือมันไม่มีกระบวนการจะไปแสวงหาประโยชน์ในสมัยนั้น หรือมันก็มี แต่ไม่ประสบความสำเร็จในการเจรจาเท่านั้นเอง... สรุปปัญหาของชาติไทยคืออะไร ขัดแข้งขัดขากันเอง หรือเราเป็นห่วงชาติเสียจนเราอาจจะไม่ได้มองผลประโยชน์ส่วนรวม หรือรัฐบาลไม่ได้พูดความจริงกับประชาชนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลประโยชน์ของใครกันแน่” ผศ.อัครพงษ์ กล่าว
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเด็นการพัฒนาแหล่งพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อนไทย-กัมพูชา ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นระยะ เช่นในปี 2565 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงพลังงาน ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เคยกล่าวถึงความคืบหน้าในการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวว่า อยู่ในขั้นการเจรจาของกระทรวงการต่างประเทศ ขณะที่เมื่อต้นปี 2566 ได้มีการประชุม ครม. ลับ ซึ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้นำข้อมูลใหม่จากฝ่ายกัมพูชามาแจ้งว่า รัฐบาลในกรุงพนมเปญแสดงความพร้อมในการกลับเข้ามาเจรจากันอีกครั้งหนึ่ง