iBet uBet web content aggregator. Adding the entire web to your favor.
iBet uBet web content aggregator. Adding the entire web to your favor.



Link to original content: https://th.wikipedia.org/wiki/วิลเฮล์ม_คอนราด_เรินต์เกน
วิลเฮ็ล์ม เรินท์เกิน - วิกิพีเดีย ข้ามไปเนื้อหา

วิลเฮ็ล์ม เรินท์เกิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วิลเฮ็ล์ม ค็อนราท เรินท์เกิน
Wilhelm Conrad Röntgen
เกิดวิลเฮ็ล์ม ค็อนราท เรินท์เกิน
27 มีนาคม ค.ศ. 1845(1845-03-27)
เล็นเน็พ ราชอาณาจักรปรัสเซีย, สมาพันธรัฐเยอรมัน
เสียชีวิต10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1923(1923-02-10) (77 ปี)
มิวนิก สาธารณรัฐไวมาร์
สัญชาติเยอรมัน[1]
ศิษย์เก่า
มีชื่อเสียงจากผู้ค้นพบรังสีเอ็กซ์
รางวัลMatteucci Medal (1896)
Rumford Medal (1896)
Elliott Cresson Medal (1897)
Barnard Medal (1900)
รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ (1901)
อาชีพทางวิทยาศาสตร์
สาขาฟิสิกส์
ดาราศาสตร์รังสีเอ็กซ์
สถาบันที่ทำงาน
อาจารย์ที่ปรึกษาในระดับปริญญาเอกAugust Kundt
ลูกศิษย์ในระดับปริญญาเอก
ลูกศิษย์ที่มีชื่อเสียงอื่น ๆFranz S. Exner
ลายมือชื่อ

วิลเฮ็ล์ม ค็อนราท เรินท์เกิน (เยอรมัน: Wilhelm Conrad Röntgen) เป็นนักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน ประจำมหาวิทยาลัยเวือทซ์บวร์ค ผู้ค้นพบและสร้างรังสีแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความยาวคลื่นขนาดที่รู้จักในปัจจุบันว่า รังสีเอกซ์ (X-rays) หรือรังสีเรินท์เกิน เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 1895 ความสำเร็จที่ทำให้เรินท์เกินได้รับรางวัลโนเบลรางวัลแรก เมื่อ พ.ศ. 2444

เรินท์เกิน ที่สะกดในภาษาเยอรมันว่า "Röntgen" มักสะกดเป็นภาษาอังกฤษโดยทั่วไปว่า "Roentgen" ดังนั้น ในเอกสารวิชาการและการแพทย์เกือบทั้งหมดจึงใช้คำสะกดว่า "Roentgen"

ชีวิตในวัยเยาว์และการศึกษา

[แก้]

เรินท์เกิน เกิดที่เมืองเล็นเน็พ ปัจจุบันอยู่ในแคว้นเร็มส์ไชด์ ประเทศเยอรมนี บิดามารดาเป็นช่างตัดเย็บเส้อผ้า ต่อมาได้ย้ายครอบครัวไปตั้งรกรากที่เอเปลดูร์น ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อเรินท์เกินอายุได้ 3 ขวบ เรินท์เกินได้รับการศึกษาขั้นต้นที่สถาบันแห่งมาร์ตินุส เฮอร์มัน ฟาน เดอร์ดูร์น ต่อมาได้เข้าเรียนในสถาบันเทคนิคอูเทรชต์ ที่ซึ่งเขาถูกไล่ออกจากสถาบันเนื่องจากถูกกล่าวหาว่าเขียนภาพล้ออาจารย์คนหนึ่ง ซึ่งเรินท์เกินไม่เคยยอมรับว่าเป็นผู้เขียน

ในค.ศ. 1865 เรินท์เกินพยายามสมัครเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยอูเทรชต์โดยไม่มีเอกสารหลักฐานที่จำเป็นสำหรับนักศึกษาปกติแต่ไม่ได้รับการรับเข้าเรียน ต่อมาเรินท์เกินทราบว่าที่สถาบันสารพัดช่างในซือริช (ปัจจุบันคือสถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิส ซือริช ที่มีชื่อเสียง) รับนักศึกษากรณีนี้เข้าเรียนได้โดยการสอบ เขาจึงเริ่มการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยสาขาวิศวกรรมเครื่องกล ในปี 1878 เรินท์เกินจบการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยซือริชแห่งนี้

การทำงาน

[แก้]

ในปี 1867 เรินท์เกินเข้าทำงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยสตราสบวร์ก และในปี 1871 ได้เป็นศาสตราจารย์ในสถาบันเกษตรศาสตร์ที่ฮอเฮนไฮม์ เวิร์ทเตมเบิร์ก เรินท์เกินได้กลับไปเป็นศาสตราจารย์สาขาวิชาฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยสตราสบวร์กอีกครั้งหนึ่งเมื่อ 1876 และในปี 1879 เรินท์เกินได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าภาควิชาฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยไกส์เซน ต่อในปี 1888 ย้ายไปรับตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยเวิร์ซเบิร์ก และอีกครั้งที่มหาวิทยาลัยมิวนิกในปี 1900 โดยคำขอของรัฐบาลบาวาเรีย

เรินท์เกินมีครอบครัวอยู่ในประเทศสหรัฐ ที่รัฐโอไฮโอ ครั้งหนึ่งเขาเคยคิดที่จะย้ายไปตั้งรกรากที่นั่น เรินท์เกินได้ยอมรับการแต่งตั้งที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในนิวยอร์ก และได้ซื้อตั๋วเรือไว้แล้ว แต่การระเบิดของสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้แผนการนี้เปลี่ยนไป เรินท์เกินตกลงอยู่ในมิวนิกต่อไปและได้ทำงานที่นี่ไปตลอดชีวิต เรินท์เกินถึงแก่กรรมเมื่อปี 1913 จากโรคมะเร็งเยื่อบุช่องท้อง มีการพูดกันว่าเรินท์เกินเสียชีวิตจากการได้รับรังสีเอกซ์เรย์ แต่ส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าการเกิดโรคมะเร็งนี้เป็นผลมาจากการรับรังสีเอกซ์เรย์ ทั้งนี้เนื่องจากการค้นคว้าวิจัยในส่วนที่เรินท์เกินต้องเกี่ยวข้องกับรังสีโดยตรงและมากมีช่วงเวลาสั้น และเรินท์เกินเองยังเป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรก ๆ ที่เป็นผู้นำในการใช้ตะกั่วเป็นโล่ป้องกันอย่างสม่ำเสมอ

การค้นพบเอกซ์เรย์

[แก้]

ในช่วงปี 1895 เรินท์เกินได้ใช้อุปกรณ์ที่พัฒนาโดยเพื่อนร่วมงานผู้มีชื่อเสียงคือ อีวาน พัลยูอิ (Ivan Palyui) นำมาให้ คือหลอดไฟที่เรียกว่า "หลอดพัลยูอิ" ซึ่งเรินท์เกินพร้อมกับผู้ร่วมงานคนอื่น ๆ ได้แก่ ไฮน์ริช แฮทซ์, วิลเลียม ครูกส์, นิโคลา เทสลา และฟิลิบ ฟอน เลนาร์ด ต่างทำการทดลองและทดสอบผลกระทบของการปล่อยประจุไฟฟ้าแรงดึงสูงในหลอดแก้วสุญญากาศนี้ จนถึงปลายปี 1965 บรรดานักค้นคว้าเหล่านี้จึงได้เริ่มทดลองค้นคว้าหาคุณสมบัติของรังสีแคโทดข้างนอกหลอด ในต้นเดือนพฤศจิกายน เรินท์เกินได้ทดลองซ้ำโดยใช้หลอดของเลนาร์ดโดยทำช่องหน้าต่างด้วยอะลูมิเนียมบาง ๆ เพื่อให้รังสีผ่านออกและใช้กระดาษแข็งปิดทับเพื่อป้องกันไม่ให้แผ่นอะลูมิเนียมเสียหายจากไฟฟ้าสถิตย์กำลังแรงที่จะเป็นในการสร้างรังสีแคโทด เรินท์เกินรู้ว่ากระดาษแข็งจะช่วยป้องกันไม่ให้แสงหนีออก แต่เขาได้สังเกตเป็นว่ากระดาษแข็งที่ทาด้วยแบเรียม ปลาติโนไซยาไนด์ (barium platinocyanide) ที่อยู่ใกล้ขอบช่องอะลูมิเนียมเกิดการเรืองแสง เรินท์เกินพบว่าหลอดของครูกส์ที่มีผนังหลอดหนาก็อาจเกิดการเรืองแสงในลักษณะเช่นนี้ได้

ในบ่ายวันที่ 8 พฤศจิกายน 1895 เรินท์เกินตั้งใจแน่วแน่ว่าจะทดสอบความคิดนี้ เขาได้บรรจงทำแผ่นกระดาษแข็งอย่างระมัดระวังให้เหมือนกับที่ใช้กับหลอดของเลนาร์ด โดยปิดหลอดฮิททอร์ฟ-ครูกส์ด้วยกระดาษแข็งแล้วต่อขั้วจากขดลวดเหนี่ยวนำของรุห์มคอร์ฟเพื่อสร้างประจุไฟฟ้าสถิตย์ แต่ก่อนที่เรินท์เกินจะตั้งจอที่ทาด้วยแบเรียมปลาติโนไซยาไนด์เพื่อทดสอบความคิด เขาได้ปิดม่านปิดไฟให้ห้องมืดลงเพื่อดูว่าแผ่นกระดาษแข็งปิดแสงได้มิดหรือไม่ ในขณะที่ปล่อยกระแสจากขดลวดเหนี่ยวนำขยับกระดาษแข็งให้แน่นแล้วหันไปเตรียมการขั้นถัดไป เรินท์เกินได้พบว่า ณ จุดนี้เองที่เกิดมีแสงเรือง ๆ ขนาดอ่อน ๆ ปรากฏที่ปลายโต๊ะที่ห่างออกไป 1 เมตร เพื่อให้แน่ใจ เรินท์เกินได้ปล่อยกระแสจากขดลวดเหนี่ยวนำอีกหลายครั้ง แสงเรือง ๆ ก็ยังเกิดขึ้นเหมือนเดิม เขาจุดไม้ขีดไฟดูจึงได้เห็นสิ่งที่อยู่ปลายโต๊ะนั้นแท้จริงก็คือแผ่นกระดาษแข็งทาสารแบเรียมฯ ที่เตรียมไว้สำหรับการทดลองขั้นต่อไปนั่นเอง

เรินท์เกินคาดเดาว่าสิ่งนี้อาจเกิดจากแสงชนิดใหม่ก็ได้ วันที่ 8 พฤศจิกายน เป็นวันศุกร์ เขาจึงถือโอกาสใช้วันหยุดสุดสัปดาห์ทำการทดลองซ้ำและทำการบันทึกครั้งแรกไว้ ในหลายสัปดาห์ต่อมา เรินท์เกินกินและนอนในห้องทดลองเพื่อทดสอบคุณสมบัติต่าง ๆ ของแสงชนิดใหม่ที่ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร เขาจึงเรียกชื่อลำลองไปก่อนว่า "รังสี X" เนื่องจากต้องใช้สูตรคณิตศาสตร์กับสิ่งที่ยังไม่รู้จักมาก่อน แม้ว่าจะมีผู้เรียกชื่อรังสีนี้ว่า "รังสีเรินท์เกิน" เพื่อเป็นเกียรติ แต่ตัวเรินท์เกินเองกลับจงใจใช้ชื่อว่า "รังสีเอกซ์" เรื่อยมา

การค้นพบรังสีเอกซ์ของเรินท์เกินไม่ใช่อุบัติเหตุ หรือจากการทำงานตามลำพัง ในการเสาะแสวงหาคำตอบ เรินท์เกินและผู้คิดค้นในงานประเภทนี้ในหลายประเทศก็ได้ช่วยกันทำอยู่ การค้นพบเป็นสิ่งที่จะต้องเกิดอย่างเห็น ๆ กันอยู่แล้ว ความจริงแล้ว รังสีเอกซ์ได้ถูกสร้างขึ้นและเกิดรูปในฟิล์มแล้วที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย 2 ปีก่อนหน้านั้น เพียงแต่ว่าคนที่ทดลองทำไม่ได้ตระหนักว่าตนเองได้ค้นพบสิ่งที่ยิ่งใหญ่เข้าแล้ว จึงเก็บฟิล์มเข้าแฟ้มสำหรับใช้อ้างอิงในการทดลองอื่น ๆ ในอนาคต ทำให้พลาดในการได้ชื่อว่าตนเป็นผู้ค้นพบสิ่งสำคัญที่สุดทางฟิสิกส์

ภาพรังสีเอกซ์ (ภาพรังสี) มือของอัลเบิร์ต ฟอน โคลลิเคอร์ ถ่ายโดยเรินท์เกิน

ณ จุดหนึ่ง ในขณะที่กำลังทดลองขีดความสามารถของวัสดุต่าง ๆ ในการปิดกั้นรังสี เรินท์เกินได้เอาแผ่นตะกั่วชิ้นเล็ก ๆ วางขวางทางรังสีได้สังเกตเห็นภาพลางของโครงกระดูกตัวเองปรากฏบนแผ่นจอแบเรียมฯ ซึ่งเขาได้เขียนรายงานในเวลาต่อมาว่า ตรงจุดนี้เองที่ตนเองตัดสินใจรักษาการทดลองไว้เป็นความลับด้วยเกรงว่าการทดลองนี้อาจเกิดจากคลาดเคลื่อนหรือความผิดพลาด

บทความรายงานชิ้นแรกของเรินท์เกิน คือ "ว่าด้วยสิ่งใหม่ของรังสีเอกซ์" (On A New Kind Of X-Rays) ตีพิมพ์ใน 50 วันต่อมาคือวันที่ 28 ธันวาคม 1895 และในวันที่ 5 มกราคม 1896 หนังสือพิมพ์ของประเทศออสเตรียได้รายงานการค้นพบรังสีชนิดใหม่ของเรินท์เกิน เรินท์เกินได้รับปริญญาเอกกิตติมศักดิ์สาขาการแพทย์จากมหาวิทยาลัยเวิร์ซเบิร์กหลังการค้นพบครั้งนี้ เรินท์เกินได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับรังสีเอกซ์รวม 3 เรื่อง ระหว่างปี 1895 - 1897 ข้อสรุปทั้งหมดของเรินท์เกินได้รับการพิสูจน์ว่าถูกต้องทั้งหมด เรินท์เกินได้รับการยกย่องเป็นบิดาแห่งการวินิจฉัยทางรังสีวิทยา เป็นสาขาเชี่ยวชาญเฉพาะที่ใช้ภาพวินิจฉัยโรค

ในปี 1901 เรินท์เกินได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ซึ่งเป็นรางวัลแรกสุด รางวัลนี้ให้อย่างเป็นทางการเพื่อ "เป็นการรับรู้และยกย่องในความวิริยอุตสาหะที่เขาได้ค้นพบรังสีที่มีความสำคัญและได้รับการตั้งชื่อตามเขานี้" เรินท์เกินได้บริจาครางวัลทีได้รับให้แก่มหาวิทยาลัยที่เขาสังกัด และได้ทำเช่นเดียวกับที่ ปีแยร์ กูว์รี ได้ทำบ้างในหลายปีต่อมา คือการปฏิเสธไม่ถือลิขสิทธิ์ในสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ที่สืบเนื่องมาจากผลงานที่เขาค้นพบด้วยเหตุผลทางจริยธรรม เรินท์เกินไม่ยอมแม้แต่จะให้ใช้ชื่อเขาเรียงรังสีที่เขาเป็นผู้ค้นพบ อย่างไรก็ดี ในปี 2004 IUPAC ได้ตั้งชื่อธาตุใหม่ว่า "เรินท์เกินเนียม" (Roentgenium) เพื่อเป็นเกียรติแก่เรินท์เกิน

รางวัลทีได้รับ

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ historiek