iBet uBet web content aggregator. Adding the entire web to your favor.
iBet uBet web content aggregator. Adding the entire web to your favor.



Link to original content: https://th.wikipedia.org/wiki/มินาโมโตะ_โนะ_โยชิตสึเนะ
มินาโมโตะ โนะ โยชิตสึเนะ - วิกิพีเดีย ข้ามไปเนื้อหา

มินาโมโตะ โนะ โยชิตสึเนะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
 
มินาโมโตะ โนะ โยชิตสึเนะ
ยุคปลาย ยุคเฮอัง
เกิดพ.ศ. 1702
นครหลวงเฮอัง
ถึงแก่กรรม15 มิถุนายน พ.ศ. 1732
แม่น้ำโคโรโมะ
ตระกูลมินาโมโตะ
บิดามารดา
ภรรยาซาโตะ โงเซ็ง
ชิซุกะ โงเซ็ง (ภรรยาน้อย)
"โยะชิสึเนะและเบ็งเกใต้ต้นซากุระ" โดย โยะชิโตะชิ สึคิโอะกะ ค.ศ. 1885

มินาโมโตะ โนะ โยชิตสึเนะ (みなもとの よしつね Minamoto no Yoshitsune หรือ 源義経 Minamoto Yoshitsune ค.ศ. 1159 - 15 มิถุนายน ค.ศ. 1189) หรือ โยชิตสึเนะแห่งมินาโมโตะ เป็นผู้บัญชาการทหารของตระกูลมินาโมโตะในญี่ปุ่น ในช่วงระหว่างปลายยุคเฮอังถึงต้นยุคคามากูระ เขาเป็นหนึ่งในตำนานของผู้กล้าของญี่ปุ่น[1] ซึ่งมักจะมีการกล่าวถึงในทางวรรณกรรม และทางภาพยนตร์

ประวัติ

[แก้]

มินาโมโตะ โนะ โยชิตสึเนะ เกิดเมื่อปี 1159 ที่นครเฮอังเกียว (เมืองเกียวโตในปัจจุบัน) เกิดในตระกูลเซวะเง็นจิ (清和源氏) เป็นบุตรชายคนที่เก้าของ มินาโมโตะ โนะ โยชิโตโมะ (源義朝) ซึ่งเป็นโทเรียว (棟梁) หรือประมุขตระกูลเซวะเง็นจิ เกิดกับนางโทกิวะ-โงเซ็ง (常盤御前) ซึ่งเป็นภรรยาน้อยของโยชิโตโมะ เมื่อแรกเกิดโยชิตสึเนะมีชื่อว่า อุชิวากะ-มารุ (牛若丸) มีพี่ชายมารดาเดียวกันอยู่สองคนคือ อิมาวากะ-มารุ (今若丸) ต่อมาคือ พระภิกษุอาโนะ เซ็งโจ (阿野全成) และโอสึวากะ-มารุ (乙若丸) ต่อมาคือพระภิกษุกิเอ็ง (義円)

ในปี 1160 เมื่ออุชิวากะอายุยังไม่ทันถึงขวบปี ได้เกิดกบฏปีเฮจิขึ้นระหว่างตระกูลมินาโมโตะนำโดย มินาโมโตะ โนะ โยชิโตโมะ ผู้เป็นบิดา กับตระกูลไทระ (平氏) นำโดย ไทระ โนะ คิโยโมริ (平清盛) ผลปรากฏว่าตระกูลมินาโมโตะพ่ายแพ้ โยชิโตโมะถูกสังหารในป่าขณะหลบหนี พี่ชายต่างมารดาและสมาชิกตระกูลมินาโมโตะที่เหลือต่างถูกกวาดล้างและประหารชีวิตไปจนหมดสิ้น เหลือเพียงมินาโมโตะ โนะ โยริโตโมะ (源頼朝) ซึ่งถูกเนรเทศไปยังแคว้นอิซุทางตะวันออก นางโทกิวะได้พาบุตรชายทั้งสามที่ยังเล็กหลบหนีซ่อนตัวในป่า จนกระทั่งคิโยโมริได้จับมารดาของนางโทกิวะเป็นตัวประกัน นางโทกิวะจึงยอมมอบตัวแต่คิโยโมริ ซึ่งคิโยโมริได้ไว้ชีวิตบุตรชายทั้งสามของนาง โดยมีเงื่อนไขว่านางโทกิวะจะต้องเข้ามาเป็นภรรยาน้อยของคิโยโมริ และบุตรชายทั้งสามจะต้องไปอยู่วัดบวชเป็นพระภิกษุไปตลอดชีพ

อุชิวากะมีความสามารถในการใช้ดาบตั้งแต่อายุยังน้อย โดยสามารถเอาชนะมุซาชิโบ เบ็งเก (武蔵坊弁慶) พระนักรบได้ที่สะพานโกโจ (五条大橋) ในนครเฮอังเกียว เบ็งเกจึงกลายเป็นผู้ติดตามคนสนิทของโยชิตสึเนะนับแต่บัดนั้น ในปี 1169 เมื่ออายุ 11 ปีอุชิวากะจึงต้องพรากจากมารดาไปอยู่ที่วัดคุรามะ (鞍馬寺) ทางเหนือของนครเฮอังเกียวเพื่อเตรียมตัวบวชเป็นพระภิกษุตามที่ตกลงไว้ ได้รับชื่อใหม่ว่า ชานาโอ (遮那王) อาศัยอยู่ที่วัดคุรามะจนกระทั่งปี 1174 ชานาโอปฏิเสธที่จะบวชเป็นพระภิกษุ ได้ทำพิธีเง็มปุกุให้แก่ตนเองแล้วหลบหนีพร้อมกับเบ็งเกไปยังเมืองฮิราอิซุมิ (平泉) ในภูมิภาคโทโฮกุทางเหนือ จังหวัดอิวาเตะในปัจจุบัน และได้รับการอุปถัมภ์โดย ฟูจิวาระ โนะ ฮิเดฮิระ (藤原秀衡) ซามูไรผู้ปกครองโอชู และได้รับนามจากฮิเดฮิระว่า โยชิตสึเนะ

สงครามเก็มเป

[แก้]

โยะชิสึเนะอาศัยอยู่ที่เมืองฮิระอิซุมิจนกระทั่งในค.ศ. 1180 โยชิตสึเนะได้ทราบข่าวว่าพี่ชายต่างมารดาของตนคือ มินาโมโตะ โนะ โยริโตโมะ ได้ทำการต่อต้านการปกครองของตระกูลไทระโดยมีฐานที่มั่นอยู่ที่เมืองคามากูระ จังหวัดคานางาวะในปัจจุบัน โยชิตสึเนะจึงเดินทางจากเมืองฮิระอิซุมิพร้อมกับเบ็งเกมาพบกับโยะริโตะโมะที่แม่น้ำคิเซะ ใกล้กับเมืองชิซุโอกะในปัจจุบัน โยะริโตะโมะจึงรับโยะชิสึเนะเข้ามาเป็นหนึ่งในขุนพลตระกูลมินะโมะโตะในการทำสงครามกับตระกูลไทระซึ่งมีผู้นำคือไทระ โนะ มุเนะโมะริ (平宗盛)

ในขณะเดียวกันทางฝั่งตะวันตก มินะโมะโตะ โนะ โยะชินะกะ (源義仲) ผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องของโยะชิสึเนะ ไม่ยอมรับอำนาจของโยะริโตะโมะและต้องการที่จะสร้างเกียรติยศโดยการโค่นล้มตระกูลไทระด้วยตนเอง ค.ศ. 1183 โยะชินะกะสามารถเข้ายึดนครเฮอังเกียวได้ ทำให้มุเนะโมะริต้องพาสมาชิกตระกูลไทระอพยพไปยังเมืองยะชิมะ (屋島) บนเกาะชิโกกุ โยะริโตะโมะจึงส่งโยะชิสึเนะ ร่วมกับมินะโมะโตะ โนะ โนะริโยะริ (源範頼) พี่ชายต่างมารดา ยกทัพไปทางตะวันตกและสามารถยึดนครเฮอังเกียวจากโยะชินะกะได้ โยะชินะกะหลบหนีแต่ถูกโยะชิสึเนะและโนะริโยะริติดตามจนต่อสู้กันที่เมืองโอสึ ในค.ศ. 1184 โยะชินะกะถูกสังหารในที่สุด

ยุทธนาวีทังโนะอุระ

ในค.ศ. 1184 โยะชิสึเนะและโนะริโยะริยกทัพมาเอาชนะทัพของตระกูลไทระได้ในยุทธการอิชิโนะตะนิ (一ノ谷の戦い) ในบริเวณเมืองโกเบ จังหวัดเฮียวโงะในปัจจุบัน ไทระ โนะ ทะดะโนะริ (平忠度) ถูกสังหารในที่รบ และไทระ โนะ ชิเงะฮิระ (平重衡) ถูกจับกุมตัวได้ ปีต่อมาค.ศ. 1185 โยะชิสึเนะนำทัพเข้าล้อมเมืองยะชิมะ จนสามารถตีเมืองยะชิมะแตกได้จนมุเนะโมะริต้องพาสมาชิกตระกูลไทระลงเรืออพยพไปทางตะวันตก โยะชิสึเนะได้ยกทัพเรือออกติดตามจนปะทะกับทัพเรือของตระกูลไทระที่ช่องแคบคัมมง ในยุทธนาวีดังโนะอุระ (壇ノ浦の戦い) จนมีชัยชนะเหนือตระกูลไทระ สมาชิกตระกูลไทระเกือบทั้งหมดจึงกระโดดลงทะเลเสียชีวิตเพื่อหนีความพ่ายแพ้ นางนิอิ-โนะ-อะมะ (二位尼 หรือไทระ โนะ โทะกิโกะ) ภรรยาเอกของคิโยะโมะริ ได้อุ้มจักรพรรดิอันโตะกุ พระชนมายุเพียงเจ็ดพรรษากระโดดลงทะเลสวรรคต

ความขัดแย้งกับโยะริโตะโมะ

[แก้]

ในขณะที่พำนักอยู่ที่นครเฮอังเกียวโยะชิสึเนะได้พบรักกับนางชิซุกะ-โงเซ็ง ซึ่งเป็นชิระเบียวชิ หรือนางรำศาลเจ้า แต่ในค.ศ. 1184 โยะริโตะโมะผู้เป็นพี่ชายได้บังคับให้โยะชิสึเนะสมรสกับนางซะโตะ-โงเซ็ง ซึ่งเป็นหลานสาวของแม่นมของโยะริโตะโมะเอง โยะชิสึเนะมีบุตรสาวกับนางซะโตะหนึ่งคน

หลังจากชัยชนะของโยะชิสึเนะที่ยุทธนาวีทังโนะอุระ ทำให้ความสำเร็จอันโดดเด่นและรวดเร็วของโยะชิสึเนะเป็นที่อิจฉาของขุนพลคนอื่นๆ โดยเฉพาะคะจิวะระ คะเงะโตะกิ (梶原景時) ซึ่งได้ยุยงให้โยะริโตะโมะเชื่อว่าโยะชิสึเนะไม่เชื่อฟังและต้องการที่จะสร้างชื่อเสียงให้แก่ตนเองเพียงอย่างเดียว เมื่อกลับถึงนครเฮอังเกียวในค.ศ. 1185 อดีตจักรพรรดิโกะ-ชิระกะวะยังทรงแต่งตั้งให้โยะชิสึเนะเป็นองครักษ์ สรังความไม่พอใจแก่โยะริโตะโมะอย่างมากซึ่งประกาศว่าหากขุนพลคนใดรับตำแหน่งในราชสำนักจะถือว่าทรยศ [2] โยะชิสึเนะและโนะริโยะริกุมตัวมุเนะโมะริพร้อมบุตรชายและเชลยศึกคนอื่นๆกลับไปยังเมืองคะมะกุระเพื่อตัดสินโทษ แต่ทว่าโยะชิสึเนะกลับถูกสกัดกั้นที่เขตโคะชิโงะเอะ (腰越状) นอกเมืองคะมะกุระไม่ให้เข้าเมือง โยะชิสึเนะรออยู่นอกเมืองจนกระทั่งการไต่สวนเสร็จสิ้นโยะชิสึเนะจึงนำนักโทษกลับนครเฮอังเกียว แต่โยะริโตะโมะกลับส่งทัพติดตามมาสังหารนักโทษตระกูลไทระจนหมดสิ้น

โยะริโตะโมะมีคำสั่งให้โนะริโยะริยกทัพจากคะมะกุระไปสังหารโยะชิสึเนะทางตะวันตก โนะริโยะริผู้เป็นพี่ชายร่วมศึกกับโยะชิสึเนะมานานปฏิเสธที่จะทำตามคำสั่ง โยะริโตะโมะจึงส่งพระนักรบโทะซะโนะโบะ โชชุน (土佐坊昌俊) แอบเดินทางมายังนครเฮอังเกียวเพื่อทำการลอบสังหารโยะชิสึเนะแต่ไม่สำเร็จและโชชุนถูกสังหาร อดีตพระจักรพรรดิโกะ-ชิระกะวะจึงมีราชโองการให้โยะชิสึเนะยกทัพไปตะวันออกเพื่อปราบโยะริโตะโมะ โยะริโตะโมะจึงส่งทัพมายังนครเฮอังเกียวเพื่อกดดันองค์อดีตพระจักรพรรดิให้เปลี่ยนราชโองการให้โยะริโตะโมะทำการปราบโยะชิสึเนะได้สำเร็จ

ในค.ศ. 1185 โยะชิสึเนะจึงตัดสินใจหลบหนีออกจากนครเฮอังเกียวพร้อมกับเบ็งเกและนางชิซุกะกลับไปยังเมืองฮิระอิซุมิทางเหนือเพื่อขอความช่วยเหลือจากฮิเดะฮิระ แต่ด้วยความลำบากในการเดินทางทำให้โยะชิสึเนะตัดสินใจส่งตัวนางชิซุกะกลับไปยังนครเฮอังเกียว แต่นางชิซุกะถูกจับกุมตัวได้ระหว่างทางและถูกส่งไปยังเมืองคะมะกุระและค้นพบว่านางชิซุกะได้ตั้งครรภ์ คลอดบุตรออกมาที่เมืองคะมะกุระปรากฏว่าเป็นบุตรชาย มารดาของนางชิซุกะได้ช่วยให้นางชิซุกะและบุตรชายหลบหนีกลับไปยังนครเฮอังเกียว แต่ทั้งนางชิซุกะและบุตรชายก็ถูกสังหารในเวลาต่อมา

ฝ่ายโยะชิสึเนะและเบ็งเกพำนักอยู่ที่เมืองฮิระอิซุมิภายใต้การปกป้องของฮิเดะฮิระ จนกระทั่งฮิเดะฮิระได้เสียชีวิตลงในค.ศ. 1187 ฟุจิวะระ โนะ ยะซุฮิระ (藤原泰衡) บุตรชายจึงขึ้นเป็นผู้ปกครองโอชูแทนที่บิดา ยะซุฮิระเห็นว่าหากตนให้ที่พำนักแก่โยะชิสึเนะต่อไปโอชูจะมีภัยจากคะมะกุระ จึงส่งกำลังพลมาทำการสังหารโยะชิสึเนะในค.ศ. 1189 ที่แม่น้ำโคะโระโมะ โยะชิสึเนะกระทำการเซ็ปปุกุเสียชีวิตลง และเบ็งเกได้ต่อสู้จนเสียชีวิตในท่ายืนอันเป็นตำนาน ก่อนเสียชีวิตโยะชิสึเนะได้ทำการสังหารนางซะโตะภรรยาเอกและบุตรสาวเพื่อไม่ให้ภรรยาเอกของตนตกไปเป็นของศัตรู

ครอบครัว

[แก้]

วัฒนธรรมสมัยนิยม

[แก้]

ชื่อของเขาได้มีการถูกนำมาใช้ในการ์ตูนในหลายเรื่อง เช่น

อ้างอิง

[แก้]
  1. Encyclopædia Britannica - Minamoto no Yoshitsune
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-11. สืบค้นเมื่อ 2012-08-11.