iBet uBet web content aggregator. Adding the entire web to your favor.
iBet uBet web content aggregator. Adding the entire web to your favor.



Link to original content: https://th.wikipedia.org/wiki/ทวิพฤกษาแห่งวาลินอร์
ทวิพฤกษาแห่งวาลินอร์ - วิกิพีเดีย ข้ามไปเนื้อหา

ทวิพฤกษาแห่งวาลินอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

นปกรณัมของ เจ.อาร์.อาร์. โทลคีน ทวิพฤกษาแห่งวาลินอร์ (Two Trees of Valinor) เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นโดยเทพียาวันนา ได้แก่ เทลเพริออน (Telperion) และ เลาเรลิน (Laurelin) อันเป็นพฤกษาเงินและทองซึ่งนำแสงสว่างมาสู่ดินแดนของ วาลาร์ ในโบราณกาล พวกมันถูกทำลายโดย เมลคอร์ และ อุงโกเลียนท์ แต่วาลาร์นำดอกไม้และผลสุดท้ายของพวกมันไปสร้างเป็น ดวงจันทร์ และ ดวงอาทิตย์

การสร้างสรรค์และการทำลาย

[แก้]

แหล่งกำเนิดแสงสว่างแรกสำหรับอาร์ดาทั้งหมดเป็นตะเกียงอันยิ่งใหญ่สองดวงคือ 'อิลลูอิน' ดวงสีเงินทางเหนือ กับ'ออร์มัล' ดวงสีทองทางใต้ ตะเกียงทั้งสองถูกทำลายลงโดยเมลคอร์ หลังจากนั้นวาลาร์ได้ย้ายที่อยู่มายังวาลินอร์ และเทพียาวันนาได้ร้องเพลงเพื่อสร้างทวิพฤกษา คือ เทลเพริออน พฤกษาเงินและ เลาเรลิน พฤกษาทอง โดยที่เทลเพริออนสื่อความหมายถึงผู้ชายและเลาเรลินหมายถึงผู้หญิง ต้นไม้ทั้งสองตั้งอยู่บนเนินเขา เอเซลโลฮาร์ นอกเขตวาลิมาร์ พวกมันเติบโตขึ้นต่อหน้าวาลาร์ทั้งหมด และได้รับน้ำจากน้ำตาของเทพีนิเอนนา

พฤกษาแต่ละต้นล้วนเป็นแหล่งกำเนิดแสงสว่าง คือ แสงสีเงินแห่งเทลเพริออน และแสงสีทองแห่งเลาเรลิน เทลเพริออนมีใบสีเข้ม (สีเงินอยู่บนด้านหนึ่ง) และน้ำค้างสีเงินของเขาถูกเก็บเป็นแหล่งของน้ำและแสงสว่าง เลาเรลินมีใบสีอ่อนประดับไปด้วยสีทอง และน้ำค้างของเธอก็ถูกเก็บไว้เช่นเดียวกันโดยเทพีวาร์ดา

หนึ่ง "วัน" ในยุคนั้นมีสิบสองชั่วโมง ต้นไม้แต่ละต้นจะผลัดกันเปล่งแสงสว่างเป็นเวลาเจ็ดชั่วโมง (เพิ่มแสงจนสว่างสุดแล้วจางลงช้า ๆ อีกครั้ง) โดยมีช่วงคาบเกี่ยวกันตอนหนึ่งชั่วโมงของ "ยามเช้าตรู่" และ "ยามโพล้เพล้" จะมีแสงอ่อน ๆ ของทั้งพฤกษาทองและเงินเปล่งออกมาพร้อมกัน

เมลคอร์ผู้ริษยาได้ขอความช่วยเหลือจากสัตว์ประหลาดแมงมุมยักษ์ อุงโกเลียนท์ (แมงมุมยักษ์ตัวแรกและเป็นบรรพบุรุษของ ชีล็อบ) เพื่อทำลายทวิพฤกษา ด้วยการสร้างเมฆหมอกแห่งความมืดปกคลุมตัวไว้ เมลคอร์โจมตีต้นไม้แต่ละต้นและอุงโกเลียนท์จอมละโมบได้ตะกรามกินชีวิตและแสงสว่างที่อยู่ในทวิพฤกษานั้น

ยาวันนาได้ร้องเพลงอีกครั้งและนิเอนนาร่ำไห้ แต่พวกเธอกลับทำได้เพียงชุบชีวิตดอกไม้ดอกสุดท้ายของเทลเพริออน (ต่อมากลายเป็น ดวงจันทร์) และผลสุดท้ายของเลาเรลิน (ต่อมากลายเป็น ดวงอาทิตย์) พวกมันถูกมอบหมายให้กับเทพไมอาร์สององค์ คือ เทพทิลิออน เป็นผู้ขับเคลื่อนเกาะแห่งดวงจันทร์ และ เทพีอาริเอน เป็นผู้บังคับนาวาแห่งดวงตะวัน นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไม ใน ลอร์ดออฟเดอะริงส์ จึงมักเรียกดวงอาทิตย์ว่า "เธอ" และเรียกดวงจันทร์ว่า "เขา"

อย่างไรก็ตามแสงอันบริสุทธิ์ของทวิพฤกษาก่อนที่จะถูกทำลายโดยอุงโกเลียนท์ กล่าวกันว่าถูกเก็บไว้ในซิลมาริลสามดวงเท่านั้น

ผู้สืบทอดของเทลเพริออน

[แก้]

เนื่องจากเอลฟ์ผู้มายังวาลินอร์รักใคร่นิยมเทลเพริออนเป็นพิเศษ เทพียาวันนาจึงได้สร้างพฤกษาอีกต้นหนึ่งที่เหมือนกันมอบให้ตั้งอยู่ในนครทิริออน ซึ่งชาววันยาร์ และชาวโนลดอร์อาศัยอยู่ด้วยกันในช่วงแรกๆ ต้นไม้นี้มีชื่อว่า กาลาธิลิออน มีลักษณะเหมือนกันกับเทลเพริออนทุกประการ เพียงแต่ไม่สามารถส่องแสงสว่างออกมาเท่านั้น มันแตกหน่อออกต้นอ่อนใหม่มากมาย หนึ่งในนั้นถูกเรียกว่า เคเลบอร์น และนำไปปลูกอยู่บนเกาะโทลเอเรสเซอา

ในยุคที่สอง ต้นอ่อนของเคเลบอร์นต้นหนึ่งถูกนำไปมอบเป็นของขวัญให้แก่ชาวนูเมนอร์ นั่นคือ นิมล็อธ พฤกษาขาวแห่งนูเมนอร์ มันคงอยู่ตลอดช่วงเวลาของอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ แต่เมื่อเซารอนเข้าควบคุมเกาะ เขาได้ล่อลวงให้กษัตริย์อาร์-ฟาราโซนโค่นมันลง

โชคดีที่อิซิลดูร์ ได้ลักลอบเก็บผลหนึ่งของต้นไม้นั้นมาไว้ ผลดังกล่าวกลายเป็น พฤกษาขาว แห่ง กอนดอร์ ในเวลาต่อมา

ผู้สืบทอดของเลาเรลิน

[แก้]

ไม่มีการกล่าวถึงต้นไม้ที่สร้างขึ้นให้เหมือนกับเลาเรลิน ไม่เหมือนกับเทลเพริออนซึ่งมีที่สร้างขึ้นมากมาย ด้วยเหตุว่าเทลเพริออนเป็นที่ชื่นชอบของพวกเอลฟ์มากกว่า อย่างไรก็ตาม กษัตริย์ทัวร์กอนได้สร้างแบบจำลองของเลาเรลินขึ้นเรียกว่า กลิงกัล ซึ่งหมายถึง 'โคมอัคคี' ประดับไว้ในนครกอนโดลินของชาวโนลดอร์พลัดถิ่น

นัยสำคัญในเรื่อง

[แก้]

ทวิพฤกษาแห่งวาลินอร์มีชีวิตอยู่ในยุคที่มีแหล่งกำเนิดแสงอื่นคือดวงดาวเท่านั้น (ซึ่งเทพีวาร์ดาสร้างขึ้นจากน้ำค้างที่เก็บจากต้นไม้ทั้งสอง เพื่อประโยชน์แก่พวกเอลฟ์) เมื่อทูตเอลฟ์ทั้งสามคนถูกพามาชมวาลินอร์เพื่อที่จะชักจูงเหล่าเอลฟ์ให้ยอมเดินทางมายังวาลินอร์ ดูเหมือนว่าทวิพฤกษาจะประทับใจพวกเขามากที่สุด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกษัตริย์ธิงโกล ได้ถูกกล่าวถึงว่าเขากระตือรือร้นที่จะเข้าร่วมการอพยพครั้งใหญ่ (The Great Journey) เนื่องจากปรารถนาจะได้เห็นแสงแห่งวาลินอร์อีกครั้ง (จนกระทั่งเขาได้พบแสงอันปรารถนานั้นในดวงหน้าของเทพีเมลิอัน) ในเวลาต่อมา พวกเอลฟ์ได้แบ่งออกเป็น คาลาเควนดิ คือ ผู้ที่เคยเห็นแสงแห่งพฤกษา กับ มอริเควนดิ คือผู้ที่ไม่เคยเห็น โดยกลุ่มที่เคยเห็นแสงแห่งพฤกษากลายเป็นกลุ่มที่มีความเหนือกว่าในหลายๆ แง่

ประวัติศาสตร์ทั้งหมดของยุคแรก ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากความปรารถนาของตัวละครต่าง ๆ มากมายเพื่อเป็นเจ้าของ ซิลมาริล ที่เก็บแสงบริสุทธิ์ที่เหลืออยู่ของทวิพฤกษาไว้

ในยุคที่สอง และยุคที่สาม พฤกษาขาวแห่งนูเมนอร์และกอนดอร์ ซึ่งกำเนิดสืบทอดมาจากเทลเพริออน มีนัยสำคัญเชิงสัญลักษณ์คือ เป็นทั้งสัญลักษณ์ของราชอาณาจักร และเป็นสิ่งระลึกถึงสัมพันธภาพที่สืบทอดมาแต่บรรพบุรุษระหว่างชาวดูเนไดน์ และพวกเอลฟ์ ความสัมพันธ์นี้อาจลึกกว่านั้น เนื่องจากการทำลายหนึ่งในต้นไม้เหล่านี้ได้สร้างปัญหาแก่อาณาจักรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งหมายความถึงพันธะลึกลับที่แข็งแกร่งกว่านั้น

นัยสำคัญภายนอก

[แก้]

แสงสว่างโดยหลักการนั้นเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ โทลคีน ผู้เป็นชาวโรมันคาทอลิก น่าจะเปิดเผยนัยสำคัญของแสงสว่างในเชิงความหมายในศาสนาคริสต์ ต้นไม้ยังมีความสำคัญเป็นพิเศษต่อโทลคีน ดังจะเห็นได้จากเรื่องสั้นของเขา คือ "Tree and Leaf" ซึ่งเป็นนิทานเปรียบเทียบอันประณีตที่อธิบายกระบวนการสร้างสรรค์ของเขาเอง คือ นิกเกิล ตัวเอกในเรื่อง ได้ใช้ชีวิตทั้งชีวิตไปกับการทาสีต้นไม้ต้นหนึ่ง

พฤกษาเป็นการปรากฏอีกรูปแบบหนึ่งตามหลักการ 'ทองและเงิน' ที่แสดงไว้ในรูปแบบตำนาน พวกมันถูกสร้างขึ้นตามอย่างตะเกียงออร์มัลกับอิลลูอิน และยังเป็นที่มาของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ที่ถูกสร้างขึ้นภายหลัง

ชื่ออื่น ๆ

[แก้]

ทั้งเทลเพริออนและเลาเรลินมีชื่อเรียกหลายชื่อดังปรากฏต่อไปนี้: เทลเพริออนยังมีชื่อว่า ซิลพิออน (Silpion) และ นิงเควโลเท (Ninquelótë) ในขณะที่เลาเรลินมีชื่อเรียกอื่นอีกว่า มาลินัลดา (Malinalda) และ คูลูริเอน (Culúrien)

ในงานเขียนแรก ๆ ของโทลคีน (ดูที่: ประวัติศาสตร์มิดเดิลเอิร์ธ) ชื่อของเทลเพริออนได้แก่ ซิลพิออน (Silpion), บันซิล (Bansil) และ เบลธิล (Belthil)

อ้างอิง

[แก้]
  • แพทริก เคอร์รี่, "Two Trees" จาก: J. R. R. Tolkien Encyclopedia (2006), ISBN 978-0-415-96942-0 .
  • แมทธิว ดิกเคอร์สัน, "Trees" จาก: J. R. R. Tolkien Encyclopedia (2006), ISBN 978-0-415-96942-0 .
  • อเล็กซานดรา โบลินทิเนียนู, "Astronomy and Cosmology, Middle-earth" จาก: J. R. R. Tolkien Encyclopedia (2006).