โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ชื่ออื่น : วัดกาญจนสิงหาสน์, วัดทองบางพรม
ที่ตั้ง : เลขที่ 686 ถ.แก้วเงินทอง (ถ.ฉิมพลี-วัดรัชฎาธิษฐาน) แขวงคลองชักพระ เขตตลิ่งชัน
ตำบล : คลองชักพระ
อำเภอ : เขตตลิ่งชัน
จังหวัด : กรุงเทพมหานคร
พิกัด DD : 13.760004 N, 100.453603 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา
เขตลุ่มน้ำรอง : คลองชักพระ, คลองบางพรม
จากถนนบรมราชชนนี บริเวณสถานีตำรวจนครบาลตลิ่งชัน ให้ใช้ถนนฉิมพลี (อยู่ติดกับสถานีตำรวจ) ไปตามถนนประมาณ 850 เมตร พบถนนแก้วเงินทองทางขวามือ เลี้ยวขวาใช้ถนนแก้วเงินทอง ไปตามถนนประมาณ 2.2 กิโลเมตร พบวัดกาญจนสิงหาสน์วรวิหารทางซ้ายมือ ตรงข้ามกับซอยแก้วเงินทอง 27
หรือหากมาจากถนนราชพฤกษ์ ให้ใช้ถนนบางพรม ประมาณ 900 เมตร พบสามแยกให้เลี้ยวซ้ายไปประมาณ 500 เมตร จะพบวัดอยู่ทางขวามือ
วัดกาญจนสิงหาสน์วรวิหาร เป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งของตลิ่งชัน เป็นวัดใหญ่ที่มีประวัติความเป็นมายาวนานและมีกิจกรรมเกี่ยวเนื่องกับชุมชนเป็นอันดับต้น ๆ ของวัดในเขตตลิ่งชัน มีการจัดงานเนื่องในพระพุทธศาสนาต่างๆ มีโรงเรียนวัดกาญจนสิงหาสน์วิทยา เป็นโรงเรียนทางโลก เปิดสอนตั้งแต่ ม.1-6 และโรงเรียนปริยัติธรรมเปิดสอนให้สอบทั้งบาลีและสันสกฤต
วัดกาญจนสิงหาสน์ โดดเด่นในเรื่องการส่งเสริมการศึกษา มีโครงการจัดทำห้องสมุด โครงการเพื่อสาธารณูปโภคแก่ประชาชน เช่น การจัดสร้างสวนหย่อม ลานกีฬา สนามฟุตบอล สนามเปตอง
หมายเลขโทรศัพท์ของวัดกาญจนสิงหาสน์วริวหาร 02-418-5061
วัดกาญจนสิงหาสน์วรวิหาร
1. ประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 69 ตอนที่ 60 หน้า 3283 วันที่ 30 กันยายน 2495 เรื่องกำหนดจำนวนและขอบเขตโบราณสถานสำหรับชาติ
2. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 102 ตอนที่ 31 หน้า 1206 วันที่ 12 มีนาคม 2528 เรื่องกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน
วัดกาญจนสิงหาสน์วรวิหารเป็นวัดที่ยังคงใช้งานอยู่ในปัจจุบัน เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่บนที่ราบน้ำท่วมถึง ริมคลองบางพรมฝั่งเหนือ ตรงข้ามฝั่งคลองกับวัดรัชฎาธิษฐานราชวรวิหาร ห่างจากคลองชักพระมาทางทิศตะวันตกประมาณ 160 เมตร ด้านทิศใต้ของวัดติดกับคลองบางพรม ทิศตะวันตกติดกับถนนแก้วเงินทอง ด้านอื่นๆ และพื้นที่โดยรอบเป็นบ้านเรือนราษฎรหนาแน่น
แม่น้ำเจ้าพระยา, คลองชักพระ (คลองบางขุนศรี), คลองบางพรม
ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มบางกอกหรือที่ราบลุ่มกรุงเทพ เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพาในยุคควอเทอร์นารี (Quaternary Period)
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2495, พ.ศ.2528
วิธีศึกษา : สำรวจ, ประกาศขึ้นทะเบียน
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำหรับชาติในปี 2495 และกำหนดระวางแนวเขตในปี 2528ชื่อผู้ศึกษา : ประยูร อุลุชาฏะ (น. ณ ปากน้ำ)
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2513
วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ
ผลการศึกษา :
ประยูร อุลุชาฏะ (2514) ได้เข้าสำรวจสิ่งก่อสร้างต่างๆ ของวัดกาญจนสิงหาสน์ และสันนิษฐานอายุสมัยจากแผนผังสิ่งก่อสร้าง พระอุโบสถ พระประธานภายในพระอุโบสถ และเสมา ทั้งยังเปรียบเทียบกับวัดรัชฎาธิษฐานหรือวัดเงินชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2516, พ.ศ.2535
วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากรสำรวจและจัดทำหนังสือทะเบียนโบราณสถานชื่อผู้ศึกษา : ศรัณย์ ทองปาน
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549?
วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ผลการศึกษา :
ศรัณย์ ทองปาน (2549?) รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์รวมถึงข้อมูลต่างๆ ของวัด และสำรวจเพื่อสร้างฐานข้อมูลของวัดในเขตตลิ่งชัน เสนอต่อศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)ชื่อผู้ศึกษา : วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2552
วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ผลการศึกษา :
รวบรวมและศึกษาข้อมูลด้านต่างๆ ทางสังคมวัฒนธรรมในพื้นที่เขตตลิ่งชัน เสนอเป็นรายงานวิจัย “ศึกษาประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ตลิ่งชัน” ต่อศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)ชื่อผู้ศึกษา : วิชญดา ทองแดง, ศรัณย์ ทองปาน
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555
วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : เมืองโบราณ
ผลการศึกษา :
วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน (2555) รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์รวมถึงข้อมูลต่างๆ ของวัด และสำรวจบันทึกสภาพปัจจุบันวัดกาญจนสิงหาสน์วรวิหารเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร สังกัดมหานิกาย ตั้งอยู่ริมคลองบางพรม ฝั่งด้านทิศเหนือ ตรงข้ามฝั่งคลองกับวัดเงินหรือวัดรัชฎาธิษฐานราชวรวิหาร
เดิมเป็นวัดราษฎร์ชื่อ “วัดทอง” บ้างก็เรียก “วัดทองบางพรม” สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา ผู้สร้างคือเจ้าขรัวทอง น้องของเจ้าขรัวทองเงิน พระภัสดาในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระพี่นางในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อรัชกาลที่ 1 ขึ้นครองราชย์ ได้ทรงสถาปนาวัดทองขึ้นเป็นพระอารามหลวง โดยสมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารีได้ทรงสถาปนาขึ้นใหม่ จนถึงรัชกาลที่ 3 ได้ทรงปฏิสังขรณ์ ต่อมาใน พ.ศ.2392 รัชกาลที่ 4 พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดกาญจนสิงหาสน์” พร้อมกับที่พระราชทานนามวัดเงินว่าวัดรัชฎาธิษฐาน (ศรันย์ ทองปาน 2549? : 18)
ตามประวัติวัดของสำนักงานพระพุทธศาสนาระบุว่า สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2300 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2535
ลำดับเจ้าอาวาส พระดำ, พระสน, พระครูนิโรธรักขิต (นา), พระครูนิโรธรักขิต (มี), พระครูนิโรธรักขิต (เนตร), พระครูนิโรธรักขิต (คุ้ม), พระครูนิโรธรักขิต (ตุ๋ย), พระครูนิโรธรักขิต (อบ) พ.ศ.2467-2476, พระนิโรธรักขิต (อ่อน จนฺทสโร) พ.ศ.2476-2531, พระราชสุทธิญาณ (เฉลียว อุปลวณฺโณ) พ.ศ.2531-ปัจจุบัน
สิ่งสำคัญภายวัด (ศรันย์ ทองปาน 2549? : 19-21) ได้แก่
พระอุโบสถเก่า ตั้งอยู่ริมคลองบางพรม หัวหน้าไปทางทิศตะวันออก (หันไปทางคลองชักพระ) หน้าบันก่ออิฐถือปูน ประดับลวดลายปูนปั้นเป็นลายพันธุ์พฤกษาและนก มีพาไลทั้งด้านหน้าและหลัง ประตูหน้าหลังด้านละ 25 ช่อง หน้าต่างด้านละ 6 ช่อง บานประตูทำเป็นลายรดน้ำลายพันธุ์พฤกษาและนก แต่ลบเลือนมากแล้ว ผนังด้านในก่อเป็นซุ้มเรียงแถวกันสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป
ประยูร อุลุชาฏะ (2514 : 93-94) ระบุว่า พระอุโบสถวัดแห่งนี้เป็นแบบก่อผนังปูนไปจนยันอกไก่ ซึ่งนิยมทำกันในสมัยพระนารายณ์เป็นต้นมา เช่น วัดตะเว็จ และวัดช่องลม ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ส่วนลายปูนปั้นบนหน้าบันที่เป็นลายดอกไม้ ใบไม้ นก กระรอก ดอกบัว แต่โดนซ่อมแซมในสมัยหลัง พระประธานในพระอุโบสถ ปางมารวิชัย ตัวอุโบสถก่อเพิงยื่นออกหน้าหลัง เสาสี่เหลี่ยม แสดงว่าสมัยรัชกาลที่ 3 ได้ทำการปฏสิงบรณ์พระอุโบสถหลังนี้
เสมาเป็นเสมาหินทรายเนื้อหยาบ ประยูร อุลุชาฏะ (2514 : 93-94) เคยให้ความเห็นว่าเป็นเสมาสมัยอยุธยา ตั้งอยู่บนฐานสูง ซุ้มประตูกำแพงแก้วทั้ง 4 ทิศ ทำเป็นลายฝรั่งแบบจีน ส่วนที่มุมกำแพงแก้วทั้ง 4 ทิศมีพระปรางค์ และมีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองอีก 4 องค์ ตั้งอยู่ทางด้านข้างข้างละ 2 องค์ ปัจจุบันสภาพของพระอุโบสถหลังเก่าค่อนข้างทรุดโทรม หลังคาด้านหลังทะลุผุพัง กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนพระอุโบสถหลังนี้ตั้งแต่ พ.ศ.2495 และมีการระวางแนวเขตใน พ.ศ.2528
พระอุโบสถใหม่ ตั้งอยู่เคียงคู่กับพระอุโบสถหลังเก่า มีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบประยุกต์จากแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 เริ่มสร้างใน พ.ศ.2535 ทางด้านหน้าพระอุโบสถมีศาลาประดิษฐาน “พระพุทธรูปเงิน” กัลป์ “พระพุทธรูปทอง” ซึ่งสร้างขึ้นตามประวัติของวัดเงิน-วัดทอง (วัดรัชฎาธิษฐาน-วัดกาญจนสิงหาสน์) ที่ว่าในสมัยรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธรูป 2 องค์ องค์หนึ่งปิดแผ่นเงินถวายวัดรัชฎาธิษฐาน อีกองค์หนึ่งผิดทอง ถวายวัดกาญจนสิงหาสน์
โรงเรียนพระปริยัติธรรม เป็นอาคารคอนกรีต 4 ชั้น ทรงไทยประยุกต์ ตั้งอยู่ทางด้านริมคลองบางพรม มีลายปูนปั้นที่หน้าบัน ทำเป็นภาพตราสัญลักษณ์พิธีกาญจนาภิเษก พ.ศ.2539
หอพระไตรปิฎก ตั้งอยู่ในสระน้ำทางทิศเหนือของพระอุโบสถ สร้างขึ้นใหม่ใน พ.ศ.2547
ศาลาการเปรียญ สร้าง พ.ศ.2493
ฌาปนสถาน สร้างใน พ.ศ.2530
หอระฆัง สร้างเป็นเสาสูง 4 ต้น ก่ออิฐถือปูน หลังคาหน้าจั่ว 2 ด้าน หน้าบันเป็นไม้มีลวดลายปูนปั้นแปะอยู่เล็กน้อย สันนิษฐานว่าอาจชำรุดหรือหักหายไป จากเดิม มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์
ประยูร อุลุชาฏะ (2514 : 93-94) กล่าวถึงแผนผังและที่ตั้งสิ่งก่อสร้างต่างๆภายในวัด มีคติการสร้างและอายุรุ่นราวคราวเดียวกับวัดรัชฎาธิษฐานหรือเงิน เสมาและพระอุโบสถน่าจะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา
ภายในเนื้อที่วัดยังมีอาคารโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร (กาญจนสิงหาสน์อุปถัมภ์) โรงเรียนวัดกาญจนสิงหาสน์วิทยา (โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ)
กรมการศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 1. กรุงเทพฯ. กรมการศาสนา 2525.
กรมศิลปากร. ทะเบียนโบราณวัตถุสถานทั่วราชอาณาจักร. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาพระสุเมรุ, 2516.
กรมศิลปากร. ทะเบียนโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล. กรุงเทพฯ : โอ. เอส. พริ้นติ้งเฮ้าส์, 2535.
ประยูร อุลุชาฏะ (น. ณ ปากน้ำ). ศิลปกรรมในบางกอก. พระนคร ; เกษมบรรณกิจ, 2514.
วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. การศึกษาภูมิหลังและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2552.
วัดกาญจนสิงหาสน์ วรวิหาร. ที่ระลึกงานถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน สำนักงาบประมาณ 13 พฤศจิกายน 2545.
วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน. ชุมทางตลิ่งชัน : ย่านเก่า[ก่อน]กรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2555.
ศรัณย์ ทองปาน. โครงการสำรวจเพื่อสร้างฐานข้อมูลของวัดในเขตตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2549?.
ศรัณย์ ทองปาน และวิชญดา ทองแดง. “ชุมทางตลิ่งชัน.” เมืองโบราณ 32, 4 (ต.ค.-ธ.ค. 2549) : 43-57.
อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระนิโรธรักขิต (อ่อน จนฺทสโร). กรุงเทพฯ : บริษัท สิ่งพิมพ์ไทย จำกัด, 2531.