วังสวนสุนันทา
สวนสุนันทา | |
---|---|
ตำหนักสายสุทธานภดล ในบริเวณสวนสุนันทา (ปัจจุบันคืออาคาร 27 มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา) | |
ข้อมูลทั่วไป | |
ประเภท | เขตพระราชฐานชั้นในพระราชวังดุสิต |
เมือง | กรุงเทพมหานคร |
ประเทศ | ประเทศไทย |
เริ่มสร้าง | พ.ศ. 2451 |
ผู้สร้าง | พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
สวนสุนันทา เป็นเขตพระราชฐานชั้นในของพระราชวังดุสิต ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มีพระราชดำริให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของพระภรรยาเจ้าและเจ้าจอมเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตไปแล้ว โดยพระองค์มีพระราชประสงค์ให้สวนนี้มีลักษณะเป็นสวนป่า[1] จึงโปรดเกล้าฯ ให้หาพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลที่ดีและหาได้ยากนานาชนิดมาปลูกไว้ในสวนแห่งนี้ด้วย ที่มาของชื่อสวนแห่งนี้มาจากชื่อสวนของพระอินทร์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ซึ่งมีชื่อว่า "สุนันทาอุทยาน"[2] และพระนามของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี พระมเหสีซึ่งเป็นที่รักยิ่งของพระองค์ แต่ทว่าพระองค์สวรรคตเสียก่อน การก่อสร้างพระตำหนัก และตำหนักในสวนสุนันทาจึงมาเริ่มการก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 6
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ได้ทรงพระราชดำริว่าสถานที่ในพระบรมมหาราชวังชั้นในคับแคบ ไม่เหมาะสมจะเป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน จึงโปรดให้สร้างพระตำหนักและตึกในบริเวณสวนสุนันทาขึ้นอีกหลายหลัง[3] แล้วโปรดให้เป็นที่ประทับของพระมเหสี เจ้าจอมมารดา เจ้าจอมและพระราชธิดาใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน 32 ตำหนัก ซึ่งมีพระตำหนักองค์สำคัญ 4 หลังได้แก่ พระตำหนักสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระตำหนักสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี และพระตำหนักพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา แต่ทว่าพระตำหนักสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงนั้นได้มีการหยุดการก่อสร้างเมื่อมีการก่ออาคารมาถึงฐานอันเนื่องมาจากทรงโปรดที่จะประทับที่พระตำหนักพญาไท จึงได้มีการแก้แบบและก่อสร้างเป็นท้องพระโรงมีนามว่า พระที่นั่งนงคราญสโมสร ส่วนสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี เสด็จมาประทับที่พระตำหนักในช่วงระยะเวลาหนึ่งก่อนที่จะเสด็จไปประทับที่วังของพระราชโอรสเป็นการถาวร โดยพระราชทานพระตำหนักเป็นที่ประทับแก่เจ้านายที่อยู่ในความดูแลของพระองค์ จึงทำให้พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา เป็นองค์ประธานของสวนสุนันทาจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2472
ระหว่างที่พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดายังทรงพระชนม์อยู่นั้น บรรดาขุนนาง ข้าราชการ ผู้มีบรรดาศักดิ์นิยมนำบุตรี และหลานของตนมาถวายตัวต่อพระวิมาดาเธอ เป็นจำนวนมาก พระวิมาดาเธอ จึงทรงให้สร้าง "โรงเรียนนิภาคาร"[4] ขึ้นภายในสวนสุนันทา สอนตามหลักสูตรการศึกษาในสมัยนั้น รวมทั้งอบรมจริยา มารยาท การฝีมือ ให้เป็นกุลสตรี
ครั้นถึงปี พ.ศ. 2475 ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้น บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ ในสวนสุนันทาหวั่นเกรงภัยจากการเมือง จึงได้ทะยอยกันออกไปจากสวนสุนันทาจนหมดสิ้น บางพระองค์ได้เสด็จออกไปอยู่หัวเมืองและหลายพระองค์เสด็จลี้ภัยการเมืองไปอยู่ต่างประเทศ โรงเรียนนิภาคารจึงเลิกดำเนินการไปโดยปริยาย นับแต่นั้นมาสวนสุนันทาที่เคยงดงามก็ถูกทอดทิ้ง ขาดการดูแลเอาใจใส่ ตำหนักต่าง ๆ ชำรุดทรุดโทรมเป็นอันมาก พื้นที่ภายในรกร้างว่างเปล่า ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เห็นว่าสวนสุนันทาถูกทอดทิ้งรกร้างอยู่มิได้ทำประโยชน์ จึงเห็นสมควรให้นายกรัฐมนตรีได้ใช้ประโยชน์ เป็นที่อยู่อาศัยของรัฐมนตรีและผู้แทนราษฎร แต่สภาผู้แทนราษฎรขอเพียงพื้นที่ภายนอกกำแพงติดถนนสามเสนสร้างเป็นบ้านพักของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น คณะรัฐมนตรีจึงลงมติเห็นสมควรว่า ควรใช้สถานที่นี้ให้เป็นประโยชน์แก่การศึกษาและมอบให้กระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน) ดำเนินการจัดตั้งให้เป็นสถานศึกษาของชาติ และสถานที่ศึกษานี้ให้ชื่อโดยคงชื่อเดิมของสถานที่ เพื่อเป็นอนุสรณ์ โดยขนานนามว่า "โรงเรียนสวนสุนันทาวิทยาลัย" เริ่มเปิดการศึกษามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2480 เป็นต้นมา
ต่อมาในปี พ.ศ. 2518 โรงเรียนสวนสุนันทาวิทยาลัยจึงได้ยกฐานะขึ้นเป็น "วิทยาลัยครูสวนสุนันทา" ตามพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. 2518 ต่อมาเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม "สถาบันราชภัฏ" เป็นชื่อสถาบันการศึกษาในสังกัดกรมการฝึกหัดครูกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งยังได้พระราชทานตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์ให้เป็นตราสัญลักษณ์ประจำสถาบันราชภัฏ แต่ยังไม่เป็นทางการ เนื่องจากยังไม่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ และเมื่อได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2538 วิทยาลัยครูสวนสุนันทาจึงมีชื่อเป็น "สถาบันราชภัฏสวนสุนันทา"[5] อย่างเป็นทางการ
ในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2547 พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 ได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา มีผลให้สถาบันราชภัฏสวนสุนันทายกฐานะเป็น มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
อาคารในสวนสุนันทา
[แก้]- พระที่นั่งนงคราญสโมสร
แรกเริ่มเดิมทีจะสร้างเป็นพระตำหนักสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง แต่เมื่อการก่อสร้างมาถึงส่วนฐานสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงโปรดที่พระตำหนักพญาไทและไม่มีพระราชประสงค์ที่จะเสด็จไปประทับในสวนสุนันทาจึงได้มีการแก้ไขแบบแปลนจัดสร้างขึ้นเป็นท้องพระโรงส่วนกลาง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระราชทานนามพระที่นั่งว่า "พระที่นั่งนงคราญสโมสร" ซึ่งเป็นนามของพระที่นั่งในพระอภิเนาว์นิเวศน์ พระบรมมหาราชวังที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งก็เป็นท้องพระโรงฝ่ายในเช่นเดียวกัน โดยพระที่นั่งแห่งใหม่นี้ใช้สำหรับพระราชวงศ์พระองค์ใดก็ตาม จะทรงใช้ในการบำเพ็ญพระกุศลหรือจัดงานรื่นเริง ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของสำนักกิจการความมั่นคงภายใน กรมการปกครอง
เป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าโดยพระองค์ประทับที่พระตำหนักหลังนี้จนกระทั่ง พระตำหนักใหญ่วังสระปทุมก่อสร้างแล้วเสร็จจึงเสด็จไปประทับที่วังสระปทุม และพระราชทานตำหนักให้เป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไลยและ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร
เป็นที่ประทับของสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวีโดยพระองค์เสด็จประทับที่พระตำหนักหลังนี้จนกระทั่งมีการก่อสร้างตำหนักสมเด็จที่วังบางขุนพรหม พระองค์จึงเสด็จไปประทับที่วังบางขุนพรหมเป็นการถาวร
- พระตำหนักสายสุทธานภดล
เป็นที่ประทับของพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีเมื่อก่อสร้างนั้นมีลักษณะเหมือนกับพระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าและพระตำหนักสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี แต่ต่อมาพระองค์โปรดให้มีการต่อเติมขยายพระตำหนักจึงทำให้พระตำหนักหลังนี้แตกต่างจากรพระตำหนักทั้ง 2 พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ เสด็จประทับที่พระตำหนักหลังนี้จนกระทั่งสิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. 2472 ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
- ตำหนักมาลินีนพดารา
เป็นอาคารบริวารของพระตำหนักสายสุทธานภดลเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าหญิงมาลินีนพดาราสิรินิภาพรรณวดี กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา มีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นอาคารตะวันตกสูง 2 ชั้น ปัจจุบันตำหนักถูกรื้อลงแล้ว และเป็นที่ตั้งของอาคารเรียนคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
- ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท
เป็นอาคารบริวารของพระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไลยและ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร มีลักษณะเป็นอาคารสูง 2 ชั้นตั้งอยู่บนเนินเขา (เนินพระนาง ซึ่งในปัจจุบันเป็นที่ตั้งของพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี) ตำหนักหลังนี้ถูกรื้อลงในช่วงรัชกาลที่ 8
- ตำหนักสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร
เป็นอาคารบริวารของพระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เป็นที่ประทับของสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ตำหนักหลังนี้ถูกรื้อลงในช่วงรัชกาลที่ 8
- ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอัพภันตรีปชา
เป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอัพภันตรีปชา ปัจจุบันตัวพระตำหนักเป็นที่ตั้งของสำนักงานสวนดุสิตโพล
- ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ
เป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ มีความแตกต่างจากตำหนักหลังอื่น ๆ คือมีสะพานเดินเชื่อมบริเวณชั้น 2 กับเรือนเจ้าจอมมารดาอ่อน ตำหนักหลังนี้ได้รับความเสียหายในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงถูกรื้อลงในที่สุด
เป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
เป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุฑารัตนราชกุมารี ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
เป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพิสมัยพิมลสัตย์ ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
เป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศศิพงศ์ประไพ ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
- ตำหนักพระบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าหญิงวรลักษณาวดี
เป็นที่ประทับของพระบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าหญิงวรลักษณาวดี ปัจจุบันตำหนักหลังนี้ถูกรื้อลงแล้วและเป็นที่ตั้งของอาคารเรียนพลศึกษา ศูนย์หนังสือ และกองพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
- ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าหญิงเหมวดี
เป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าหญิงเหมวดี
- ตำหนักพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสุวพักตร์วิไลพรรณ
เป็นที่ประทับของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสุวพักตร์วิไลพรรณ ปัจจุบันตำหนักหลังนี้ถูกรื้อลงแล้วและเป็นที่ตั้งของอาคารเรียนคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
- ตำหนักเจ้าดารารัศมี พระราชชายา
เป็นที่ประทับของเจ้าดารารัศมีพระราชชายา ปัจจุบันถูกรื้อลงแล้วในช่วงต้นรัชกาลที่ 9 โดยตำแหน่งเดิมขององค์ตำหนักอยู่ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยสวนดุสิต
- เรือนเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ
เป็นอาคารบริวารของพระตำหนักสายสุทธานภดลเป็นที่พำนักของเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ปัจจุบันตำหนักหลังนี้ถูกรื้อลงแล้วและเป็นที่ตั้งของอาคารเรียนภาควิชาคหกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
- เรือนเจ้าจอมเอิบ
เป็นที่พำนักของเจ้าจอมเอิบ ปัจจุบันถูกรื้อลงเพื่อสร้างอาคารเรียน 1 มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
- เรือนเจ้าจอมแส
เป็นที่พำนักของเจ้าจอมแสปัจจุบันถูกรื้อลงเพื่อสร้างอาคารเรียน 1 มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
- เรือนเจ้าจอมเอี่ยม
เป็นที่พำนักของเจ้าจอมเอี่ยมปัจจุบันถูกรื้อลงเพื่อสร้างอาคารเรียน 1 มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
- เรือนเจ้าจอมอาบ
เป็นที่พำนักของเจ้าจอมอาบปัจจุบันถูกรื้อลงเพื่อสร้างอาคารเรียน 1 มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
- เรือนเจ้าจอมแก้ว
เป็นที่พำนักของเจ้าจอมแก้วปัจจุบันถูกรื้อลงเพื่อสร้างอาคารเรียน 1 มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
- เรือนเจ้าจอมมารดาอ่อน
เป็นที่พำนักของเจ้าจอมมารดาอ่อน เรือนหลังนี้ได้รับความเสียหายในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงถูกรื้อลงในที่สุด
- เรือนเจ้าจอมเอื้อน
เป็นที่พำนักของเจ้าจอมเอื้อนในรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
- เรือนท้าวโสภานิเวศน์
เป็นที่พำนักของท้าวโสภานิเวศน์ ปัจจุบันถูกรื้อในช่วงต้นรัชกาลที่ 9 โดยตำแหน่งเดิมของเรือนหลังนี้อยู่ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยสวนดุสิต
- ตำหนักว่าง
ในสวนสุนันทามีตำหนัก 2 หลังที่ไม่มีเจ้านายประทับตั้งอยู่ทั้ง 2 ด้านของตำหนักเจ้าดารารัศมี พระราชชายา ถูกรื้อลงในช่วงต้นรัชกาลที่ 9 โดยตำแหน่งเดิมขององค์ตำหนักอยู่ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยสวนดุสิต
อ้างอิง
[แก้]- ↑ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, จดหมายเหตุพระราชกรณีกิจรายวัน ภาคที่ 22 (พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพคุณหญิงเพิ่ม โชฎึกราชเศรษฐี)
- ↑ กิตติพงษ์ วิโรจน์ธรรมากูร, สวนสุนันทา, สำนักพิมพ์สวนสุนันทา มรภ, ISBN 974-421-655-7 หน้า 167
- ↑ พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้ากรุงสยาม (บางตอน) และพระราชนิพนธ์อันเป็นสุดที่รัก เรื่อง พระนล คำหลวง, หน้า 40
- ↑ กิตติพงษ์ วิโรจน์ธรรมากูร, สวนสุนันทา, สำนักพิมพ์สวนสุนันทา มรภ, ISBN 974-421-655-7 หน้า 223
- ↑ กิตติพงษ์ วิโรจน์ธรรมากูร, สวนสุนันทา, สำนักพิมพ์สวนสุนันทา มรภ, ISBN 974-421-655-7 หน้า 243