พืดหินปะการัง
ที่อยู่อาศัยใต้ทะเล |
---|
แนวปะการัง หรือ พืดหินปะการัง เป็นระบบนิเวศที่ซับซ้อน และมีความหลากหลายมากที่สุดในทะเล แนวปะการังจัดเป็นสิ่งก่อสร้างของสิ่งมีชีวิตที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นหินปูนที่มีความแข็ง โดยสัตว์ทะเลขนาดเล็กคือ ปะการัง รวมถึงซากของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในทะเลอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น สาหร่ายหินปูน, หอยที่มีเปลือกแข็ง เป็นต้น ทั้งปะการังเองและสิ่งมีชีวิตที่สร้างหินปูนได้ เมื่อตายไปแล้วจะยังคงเหลือซากหินปูนทับถมพอกพูน ซึ่งถือว่าเป็นขบวนการสร้างแนวปะการัง ซากหินปูนเหล่านั้นค่อย ๆ ผุกร่อนเป็นผงตะกอน ซึ่งส่วนหนึ่งก็ยังคงสะสมพอกพูนในแนวปะการัง แต่อีกส่วนหนึ่งอาจถูกพัดพาล่องลอยไปตามกระแสน้ำไปทับถมพอกพูนเป็นชายหาด[1]
การเจริญเติบโตของแนวปะการังเป็นไปอย่างช้า ๆ ในแต่ละปี ปะการังบางชนิดอาจเพิ่มขนาดของตนเองขึ้นมาได้เพียง 2–5 เซนติเมตรเท่านั้น ซึ่งกว่าที่ปะการังจะสร้างตนเองจนแข็งแรงเป็นแนวพืดได้ต้องใช้เวลานับหมื่น ๆ ปี โดยแนวปะการังที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก คือ เกรตแบร์ริเออร์รีฟ ทางตอนเหนือของออสเตรเลีย ที่มีเนื้อที่กว้างขวางกว่า 1,562 ไมล์ (2,500 กิโลเมตร) มีแนวปะการังมากกว่า 2,900 แนว ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ[2] และแนวปะการังที่มีขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งของโลก คือ สามเหลี่ยมปะการัง ที่ครอบคลุมพื้นที่ระหว่างน่านน้ำของฟิลิปปินส์ เช่น อุทยานธรรมชาติปะการังตุบบาตาฮา, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ปาปัวนิวกินี, หมู่เกาะโซโลมอน และติมอร์เลสเต คิดเป็น 1 ใน 3 ของแนวปะการังที่มีอยู่ในโลก และมีความหลากหลายของชนิดปลาที่อาศัยอยู่ในแนวปะการังคิดเป็นร้อยละ 37 ของปลาที่อาศัยในแนวปะการังทั้งหมดทั่วโลก[3]
ประเภท
[แก้]- แนวปะการังแบ่งออกได้เป็น 3 แบบด้วยกัน คือ
- แนวปะการังนอกฝั่ง (Barrier reef) เป็นแนวปะการังขนาดใหญ่โต มีความกว้างยาวนับเป็นร้อย ๆ ไมล์ เช่น เกรตแบร์ริเออร์รีฟ
- เกาะปะการัง (Atoll) เกิดขึ้นจากการรวมตัวทับถมกันของปะการังในแนวดิ่งจนกลายสภาพเป็นเกาะ ซึ่งเกาะลักษณะเช่นนี้ จะพบมากในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ และมหาสมุทรอินเดีย เช่น มัลดีฟส์, หมู่เกาะสิมิลัน และเกาะสีปาดัน ของมาเลเซีย เป็นต้น
- แนวปะการังชายฝั่ง (Fringing reef) เป็นแนวปะการังที่เกิดขึ้นในบริเวณชายฝั่งและหมู่เกาะในเขตน้ำค่อนข้างตื้น
- และอาจแบ่งตามลักษณะสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันเป็น 4 รูปแบบด้วยกัน คือ
- แนวปะการังริมฝั่ง เป็นแนวปะการังที่แท้จริง เพราะเป็นการสะสมตัวจนกลายเป็นแนวปะการัง พบได้ทั่วไปในแหล่งดำน้ำดูปะการังน้ำตื้นตามชายฝั่งและหมู่เกาะต่าง ๆ นับเป็นแนวปะการังชนิดที่ทรงคุณค่าที่สุด เพราะเป็นที่ที่สัตว์ทะเลจะใช้เวลาช่วงหนึ่งของชีวิตเข้ามาอาศัยเติบโตอยู่ในบริเวณนี้ ปะการังชนิดนี้ใน ปัจจุบันจัดเป็นปะการังที่มีความเสียหายมากที่สุด
- กลุ่มปะการังบนพื้นทราย เป็นกลุ่มปะการังเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นบนพื้นทราย ยังมีการสะสมตัวกันไม่มากนัก ส่วนมากเป็นปะการังสมอง (Faviidae) และปะการังเขากวาง (Acropora spp.)
- ปะการังบนโขดหิน อยู่ในแนวน้ำลึก พบได้ในแหล่งดำน้ำทั่วไปในของหมู่เกาะสิมิลัน แนวปะการังชนิดนี้เปรียบดังโอเอซิสกลางทะเลทราย จึงเป็นที่รวมตัวของสัตว์ทะเลหลากหลาย โดยเฉพาะฝูงปลาต่าง ๆ ที่แวะเวียนเข้ามาหาอาหารอย่างสม่ำเสมอ
- แหล่งกัลปังหาและปะการังอ่อน ไม่เชิงเป็นแนวปะการัง มีศักยภาพในการเป็นที่หลบภัยและที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำไม่มากนัก จึงไม่ค่อยมีคุณค่าเท่าใดนักในระบบนิเวศ เพราะชนิดของปะการังแบบนี้ เป็น ปะการังบนโขดหิน, ปะการังอ่อน และกัลปังหา แต่กลับทรงคุณค่าอย่างยิ่งในแง่การท่องเที่ยว เพราะเป็นจุดสนใจอย่างยิ่งของนักดำน้ำและช่างภาพใต้น้ำ
ชีววิทยา
[แก้]แนวปะการังนับว่าเป็นสิ่งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเล เป็นที่หลบพัก, อาศัย, แพร่ขยายพันธุ์ และหากินของสัตว์ทะเลชนิดต่าง ๆ มีปลาหลากหลายที่อาศัยอยู่ในแนวปะการังมากกว่า 4,000 ชนิด[4] โดยปลากระดูกแข็งขนาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่พบได้ในแนวปะการัง คือ ปลาหมอทะเล (Epinephelus lanceolatus)[5] ซึ่งเป็นปลาเศรษฐกิจสำคัญ รวมทั้งปลาและสัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ อีกด้วย เปรียบเหมือนเป็นป่าดิบชื้นหรือโอเอซิสในทะเล [6][7]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ลักษณะแนวปะการังของไทย". ฐานข้อมูลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. 21 กันยายน 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-18. สืบค้นเมื่อ 2012-03-20.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "Welcome to the Great Barrier Reef". greatbarrierreef.org (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Asaad, Irawan; Lundquist, Carolyn J.; Erdmann, Mark V.; Hooidonk, Ruben Van; Costello, Mark J. (5 พฤศจิกายน 2018). "Designating Spatial Priorities for Marine Biodiversity Conservation in the Coral Triangle". Front. Mar. Sci. 5: 400. doi:10.3389/fmars.2018.00400. S2CID 53294894.
- ↑ Spalding, Mark, Corinna Ravilious, and Edmund Green (2001). World Atlas of Coral Reefs. Berkeley, CA: University of California Press and UNEP/WCMC. ISBN 978-0-520-23255-6.
- ↑ วินิจ รังผึ้ง (29 กุมภาพันธ์ 2012). "ปลาเก๋าและปลาหมอทะเล". ผู้จัดการออนไลน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2016.
- ↑ "รู้จักกับแนวปะการัง". moohin.com. 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2012. สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2012.
- ↑ "ความสำคัญของแนวปะการังที่เกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตของมนุษย์". ฐานข้อมูลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-18. สืบค้นเมื่อ 2012-03-20.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ แนวปะการัง