จดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวโครินธ์ ฉบับที่ 2
ส่วนหนึ่งของหมวดหมู่ |
หนังสือใน พันธสัญญาใหม่ |
---|
|
จดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวโครินธ์ ฉบับที่ 2[1] (อังกฤษ: The Second Epistle of Paul to the Corinthians) เป็นหนังสือเล่มที่ 8 ของคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาใหม่
เช่นเดียวกันกับ "จดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวโครินธ์ ฉบับที่ 1" นักบุญเปาโลเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้น ซึ่งเดิมเป็นจดหมายฉบับที่สองที่ส่งถึงคริสตจักรในเมืองโครินธ์ จดหมายฉบับนี้ถูกเขียนหลังจากฉบับแรกไม่กี่เดือน มีเรื่องราวเกี่ยวกับอัตชีวประวัติของเปาโลอัครทูตมากที่สุด เมื่อเทียบกับจดหมายฉบับอื่น ๆ จากหลักฐานที่ว่า หนังสือโครินธ์ฉบับที่ 1 ซึ่งเป็นจดหมายฉบับแรกถูกเขียนในช่วงฤดูใบไม้ผลิของปีค.ศ. 55 ดังนั้น 2 โครินธ์ จะถูกเขียนขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ร่วงของปีเดียวกัน
เปาโลเขียนจดหมายฉบับนี้ขึ้น เพราะหลังจากที่ได้ส่งจดหมายฉบับแรกไปแล้ว ทราบมาว่าปัญหาต่าง ๆ และการแบ่งแยกกลุ่มในคริสต์ศาสนิกชนกันเอง ที่เปาโลพูดไว้ใน หนังสือโครินธ์ ฉบับที่ ยังไม่หมดไป ยิ่งไปกว่านั้น ผู้สอนผิด ๆ บางคนหลังจากได้รับจดหมายฉบับแรกแล้ว กลับท้าทายเรื่องสิทธิและอำนาจของนักบุญเปาโลว่า ไม่ใช่อัครทูตแท้จริงที่พระเยซูแต่งตั้ง บางคนกล่าวหาว่าเปาโลยักยอกเงินที่ได้เรี่ยไรมา เพื่อช่วยเหลือคริสต์ศาสนิกชนที่ยากจนในกรุงเยรูซาเลมไปใช้ส่วนตัว
หนังสือโครินธ์ ฉบับที่ 2 เป็นจดหมายที่เปาโลเขียนบรรยายความรู้สึกส่วนตัวออกมามากที่สุด จดหมายเริ่มต้นด้วยความสิ้นหวังเพราะความทุกข์ยากที่ได้รับ "พี่น้องทั้งหลาย เราอยากให้ท่านทราบถึงความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นแก่เราในแคว้นเอเซีย ซึ่งทำให้เราหนักใจเหลือกำลัง จนเราเกือบหมดหวังที่จะเอาชีวิตรอดมาได้"[2] แต่ในตอนกลางของจดหมาย เปาโลบอกผู้อ่านให้ทราบว่า "เพราะว่าการทุกข์ยากเล็ก ๆ น้อย ๆ ของเรา ซึ่งเรารับอยู่ประเดี๋ยวเดียวนั้น จะทำให้เรามีศักดิ์ศรีถาวรมากหาที่เปรียบมิได้"[3] และเปลี่ยนเป็นความปิติยินดีในตอนท้าย "เพราะว่าเมื่อเราอ่อนแอ และท่านเข้มแข็ง เราก็ยินดี เราอธิษฐานขอสิ่งนี้ด้วย คือขอให้ท่านทั้งหลายบรรลุถึงความบริบูรณ์ในพระคริสต์"[4]
วัตถุประสงค์ที่เปาโลเขียนจดหมายฉบับนี้ขึ้นมีอยู่ 3 ประการ ประการแรกคือ ต้องการยืนยันตนเองในฐานะของอัครทูตต่อชาวเมืองโครินธ์ โดยชี้แจงว่าการประกาศข่าวดีและเทศนาที่เมืองโครินธ์นั้น ไม่ได้รับประโยชน์อะไรเป็นส่วนตัว นอกจากทำตามหน้าที่ของอัครทูต ในทางตรงกันข้าม กลับต้องเผชิญความยากลำบากต่าง ๆ "แต่เราผู้เป็นคนรับใช้ของพระเจ้า ได้กระทำตัวให้เป็นที่ชอบในการทั้งปวง โดยความเพียรอดทนเป็นอันมาก ในความทุกข์ยาก ในความขัดสน ในเหตุวิบัติ"[5] และในฐานะของอัครทูตผู้พร้อมที่จะกวดขันเรื่องการทำบาปด้วย ดังที่ได้เขียนในจดหมายว่า "ข้าพเจ้าได้เตือนท่านที่ทำบาปมาแล้วและบรรดาคนอื่น ๆ ด้วย และบัดนี้ข้าพเจ้าขอเตือนท่านอีก เมื่อข้าพเจ้าไม่ได้อยู่กับท่าน เหมือนกับเมื่อข้าพเจ้าได้อยู่กับท่านในครั้งที่สองนั้นว่า ถ้าข้าพเจ้ามาอีกข้าพเจ้าจะไม่เว้นการติโทษคนเหล่านี้เลย"[6]
ประการที่สองคือ ต้องการย้ำถึงแนวทางการดำเนินชีวิตคริสตชนที่ถูกต้อง ซึ่งเปาโลได้เขียนไว้ตลอดตั้งแต่ในตอนต้นจนถึงตอนท้ายของจดหมาย เช่น การให้อภัยแก่ผู้ที่ทำให้เกิดความทุกข์[7] การคืนดีกัน[8] การให้ทานด้วยใจกว้างขวาง[9] เป็นต้น
ประการที่สามคือ เปาโลต้องการสรรเสริญพระเจ้าผ่านทางความทุกข์และความอ่อนแอของตนเอง นอกจากผู้อ่านจะทราบได้จากตอนต้น ๆ ของจดหมายแล้วว่า เปาโลต้องประสบความลำบากต่าง ๆ นานา ในตอนท้ายของจดหมายยังทำให้เชื่อได้ว่า เปาโลมีโรคประจำตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่แน่ชัดว่าเป็นอะไร แต่เปาโลเปรียบโรคนี้เหมือนหนามใหญ่อยู่ในเนื้อของตนเอง[10] แม้ว่าจะมีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น เปาโลไม่ได้เสื่อมศรัทธาในพระเจ้า แต่สรรเสริญว่า "เหตุฉะนั้นเพราะเห็นแก่พระคริสต์ ข้าพเจ้าจึงชื่นใจในบรรดาความอ่อนแอของข้าพเจ้า ในการประทุษร้ายต่าง ๆ ในความยากลำบาก ในการถูกข่มเหง ในความอับจน เพราะว่าข้าพเจ้าอ่อนแอเมื่อใด ข้าพเจ้าก็จะแข็งแรงมากเมื่อนั้น"[11]
โครงร่าง
[แก้]- คำทักทาย 1:1 - 11
- คำร้องขอของเปาโลอัครทูตต่อชาวโครินธ์ 1:12 - 3:18
- ลักษณะการรับใช้ของเปาโล 4:1 - 7:16
- การรับผิดชอบต่อผู้รับใช้ 8:1 - 9:15
- ปกป้องฐานะอัครทูตและข้อคิดเห็นสรุป 10:1 - 13:14
อ้างอิง
[แก้]- Thai Holy Bible, Thailand Bible Society, 1998
- Walter A. Elwell, The Pocket Bible Handbook, Harold Shaw Publisher, 1997